ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มากกว่า “หมุด ส.ป.ก.” วันแมป “ชัยวัฒน์” ท้าชน “ธรรมนัส”

สิ่งแวดล้อม
29 ก.พ. 67
14:53
574
Logo Thai PBS
มากกว่า “หมุด ส.ป.ก.” วันแมป “ชัยวัฒน์” ท้าชน “ธรรมนัส”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปมขัดแย้งระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรณีหมุด ส.ป.ก.ไปปักทับพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และต่อมาพบว่า 2 หน่วยงานนี้มีพื้นที่ทับซ้อนกันมากถึง 2 แสนไร่

ที่มาของปัญหานี้ต้องพิจารณาจาก 2 มิติเป็นอย่างน้อย มิติแรกที่ชัดเจนมากคือ ถือแผนที่คนละฉบับ ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ส่วนราชการเอง แนวเขตจึงไม่ตรงกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติ และยังเป็นช่องโหว่ที่ถูกนำไปใช้ในการแสวงหาประโยชน์บนความบอบช้ำของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

อ่านข่าว : รู้จัก "เขาลูกช้าง" พื้นที่พิพาทใหม่ ส.ป.ก.-กรมอุทยานฯ

นำไปสู่นโยบายปรับปรุงแผนเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 หรือ วันแมป (ONE MAP) เมื่อต้นปี 2559 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังให้ทุกส่วนราชการใช้แผนที่ฉบับเดียวกัน มาตราส่วนเดียวกัน ป้องกันปัญหา แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะครอบคลุมหน่วยงานต่าง ๆ ในหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ (พ.ม.) กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและกระทรวงวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น

โดยสั่งการให้จัดทำเป็นแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 : 4000 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่จนแล้วจนรอดยังค้างคาจนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กระทั่งถึงปัจจุบัน

การส่งหนังสือราชการโดยเจ้ากรมแผนที่ทหาร ต่อนายกรัฐมนตรี แม้ดูผิวเผินอาจจะช่วยยุติข้อชัดแย้งได้ แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อกังขาทางกฎหมาย โดยเฉพาะหนังสือและวันแมป หากจัดทำเสร็จสิ้นเรียบร้อย มีสถานะบังคับใช้อย่างไร สูงกว่า พ.ร.บ.หรือพระราชกฤษฎีกา มีแผนที่แนบท้ายที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ถืออยู่หรือไม่

หรือแม้แต่ เมื่อนายกฯ เห็นชอบแล้ว จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร เพราะนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานฯ ที่เป็นเสมือน “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ของกรมอุทยานฯ พูดชัดเจนว่า วันแมป ยังไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

อ่านขาว : "สุทิน" ลั่นรัฐบาลต้องยึด One Map ปมขัดแย้งที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่

ขณะเดียวกัน แต่ละส่วนราชการต่างมีกฎหมายที่ต้องถือปฏิบัติของตนเอง หากละเว้นอาจมีสิทธิ์โดนกล่าวหา ตามมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงได้เห็นการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการใช้แผนที่ของกรมฯ ที่นายชัยวัฒน์ย้ำว่า มีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่เกิน 5 เซนติเมตร และเป็นรุ่นแรกที่ทำสมุดจดรังวัด และสมุดรังวัดแบบไฟล์ดิจิทัล

ยังไม่นับคำถามสำคัญ วันแมปที่กรมแผนที่ทหารจัดทำ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ แย้งว่า ไม่ตรงกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น อิงอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องแม่นยำจากอะไร หรือมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีเรื่องอื่น อาทิ เอื้อประโยชน์ให้หน่วยงานใดหรือไม่ เพราะมักจะมีคำถามเรื่องความโปร่งใสหรือตรวจสอบไม่ได้ ในโครงการของทหารและกองทัพเสมอ

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ที่มีนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด ก็มีข้อสงสัยและมีเสียงวิพากษ์ว่า มีอะไรแฝงเร้นในเชิงผลประโยชน์หรือไม่ ยังไม่นับคนที่อ้างสิทธิ์ได้ที่ดิน ส.ป.ก.เป็นพวกสวมสิทธิ์ ไม่ใช่เกษตรกรจริงหรือไม่

อ่านข่าว : "ธรรมนัส" ลั่นยึดนโยบายนายกฯ ปมที่ดิน ส.ป.ก. - ย้ำระดับผู้บริหารคุยจบแล้ว

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือมิติทางการเมือง เพราะในพรรคพลังประชารัฐ มี 2 กลุ่มที่ชิงไหวชิงพริบอยู่ในที แม้จะพยายามประสานไม่ให้เป็นความขัดแย้งสู่สายตาคนภายนอก กลุ่มหนึ่งคือ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่เดิมทีเป็นเลขาธิการพรรคคู่ใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคที่พยายามปกป้อง ร.อ.ธรรมนัส ให้มีที่ยืนมาตลอด

โดยเฉพาะเมื่อครั้งถูก พล.อ.ประยุทธ์ ถอดออกจากรัฐมนตรีแบบฟ้าผ่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “บิ๊กตู่” เมื่อเดือนกันยายนปี 2564 กระทั่งต้องพาพลพรรคระเห็จออกไปตั้งพรรคการเมืองอื่นระยะหนึ่ง และสุดท้าย ร.อ.ธรรมนัสก็กลับมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐตามเดิม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

ด้านหนึ่ง “บิ๊กป้อม” ต้องการเปิดทางให้น้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เข้ามามีบทบาทแทนในพรรค และรับโควตารัฐมนตรีใน ครม.พร้อมกับนายสันติ พร้อมพัฒน์

แต่ทางการเมืองของ “บิ๊กป๊อด” ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาด มีข่าววงในว่า ไม่ค่อยมีเพื่อนและพวกพ้องในพรรคมากนัก เพราะส่วนใหญ่อยากจะเดินตาม ร.อ.ธรรมนัสมากกว่า ด้วยมีสไตล์การทำงานแบบใจถึงพึ่งได้

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ๆ มีความแน่นแฟ้นช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ต้น ทั้งยังมีข่าวพบกันเนือง ๆ กระทั่งมีกระแสข่าวลือบางช่วงว่า เตรียมพา ส.ส.ในกลุ่มย้ายพรรคไปพรรคเพื่อไทย

ประกอบกับแนวโน้มการเมืองไทย กำลังเข้าสู่โหมด 2 พรรคใหญ่ต่อสู้กันในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงอาจเกิดความระแวง เรื่อง “ตักปลาในบ่อพี่” ล่วงหน้า เพื่อหวังผลทางการเมืองในอนาคตครั้งหน้า

อ่านข่าว : “ชัยวัฒน์” ซัด ส.ป.ก.ยืนยันที่ดินเขาใหญ่อยู่ในอุทยานฯ ท้าพิสูจน์ 1 มี.ค.

เป็นเหตุให้ “บิ๊กป้อม” ต้องเป็น “ป.เดียว” ที่ไม่ยอมวางมือทางการเมือง กลับบ้านไปเลี้ยงหลานเหมือน ป.ประยุทธ์ และป.ป็อก ยังคงยืนยันจะทำงานการเมืองต่อ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การออกโรงสวมบท “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ของนายชัยวัฒน์ทุกครั้ง จะอ้างถึงได้รับกำลังใจจาก “บิ๊ก” ในกระทรวงทรัพยากรฯ ทุกครั้ง

เรื่องเป็นด้วยประการฉะนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง