ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“Maishima” โรงกำจัดขยะศิลปะ ต้นแบบ Zero Waste

ต่างประเทศ
28 ก.พ. 67
12:48
945
Logo Thai PBS
“Maishima” โรงกำจัดขยะศิลปะ ต้นแบบ Zero Waste
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

รูปทรงอาคารแปลกตาที่ดูคล้ายกับเมืองในเทพนิยาย มีเพียงสีเหลือง แดง ขาว และดำมีปล่องสีทอง ปกคลุมด้วยต้นไม้ที่กลมกลืนแบบลายเส้น คนทั่วไปและผู้มาเยือนเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น มักกล่าวขานว่า “เมืองขยะแสนสนุก”

ฮิโรซึคุ โอคุมูระ เจ้าหน้าที่โรงงานกำจัดขยะไมชิมะ ของสำนักจัดการขยะเมืองโอซาก้า จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น บอกในระหว่างนำคณะสื่อมวลชนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ติดตามกระบวนการกำจัดขยะ Maishima ซึ่งโรงงานกำจัดขยะแห่งนี้เป็น 1 ใน 6 โรงงานที่บำบัดและกำจัดของเสียจากเมืองโอซาก้า และเป็นหนึ่งในโรงงานบำบัดของเสียที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น กำจัดขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) ที่ดีที่สุด ไม่ปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำจัดสารไดออกซินซึ่งมาจากการเผาขยะ

ฮิโรซึคุ บอกว่า อาคารพื้นที่ 30,000 ตารางเมตรของโรงงานกำจัดขยะ “Maishima” กลายเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวถึงเดือนละ 800-1,000 คน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ๆ และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองโอซาก้า

ศิลปินดังออกแบบโรงเผาขยะ ไม่ให้เป็นพื้นที่ต้องห้าม

ด้วยอาคารรูปทรงแปลกตาที่ออกแบบโดย “เฟรเดนส์ไรน์ ฮุนเดอวัสเซอร์” ศิลปินและสถาปนิกชาวออสเตรียที่ออกแบบอาคารแห่งนี้จากแรงบันดาลใจที่ว่าเส้นตรง คือรูปร่างที่ขัดกับธรรมชาติ เพราะสิ่งของที่เกิดจากธรรมชาติไม่มีส่วนของเส้นตรง โรงงานแห่งนี้จึงมีแค่สีแดงที่สื่อของเปลวเพลิง และสีเหลือง ขาว ดำ เพื่อสื่อถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ด้านนอกและภายในอาคาร จึงมีการจัดแสดงผลงานศิลปะของเฟรเดนส์ไรน์ ฮุนเดอวัสเซอร์ เพื่อรำลึกถึงผลงานของเขา รวมทั้งรถเข็นขยะต้นแบบของคนญี่ปุ่นที่ทำจากไม้ที่นำไปนำไปเก็บตามบ้านเรือนมีอายุกว่า 100 ปีก็ถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ด้วย

ปัจจุบันโรงงานกำจัดขยะ Maishima มีระบบการกำจัดขยะด้วยวิธีเผาความร้อน 900 องศาเซลเซียส และบดขยะขนาดใหญ่ แต่ละวันจะมีปริมาณขยะเข้ามากำจัดประมาณ 450 ตัน มีทั้งขยะจากบ้านเรือนและขยะชิ้นใหญ่หลากหลายรูปแบบ โดยพบว่าการเผาขยะเฉลี่ยต่อวันสูงสุด อยู่ในช่วงสิ้นปีถึงปีใหม่ที่ประชาชนในญี่ปุ่นจะเก็บกวาดบ้านมีปริมาณขยะอยู่ที่ 1,000 ตัน หรือใช้รถขยะขน 600 คัน สลับกันเข้าออก

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ระบุว่า การที่รถขยะเข้าออกได้รวดเร็ว เนื่องจากมีการแยกขยะจากบ้านเรือน ซึ่งจะมีวันจัดเก็บขยะตามบ้านเรือนอย่างเป็นระบบ ส่วนขยะชิ้นใหญ่ เช่น ที่นอน เฟอร์นิเจอร์ รถจักรยาน และอื่น ๆ จะให้เจ้าหน้าที่ไปจัดเก็บตามบ้านเรือนเพื่อนำมากำจัดและคัดแยกอย่างถูกต้อง เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก

ส่วนขี้เถ้าขยะจากการกำจัดด้วยการเผาจะเหลือประมาณ 200 ตันต่อวัน ถูกนำไปถมที่ดิน ทั้งทำสนามบินและเกาะต่าง ๆ ในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาขยะได้ถึง 32,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้ในส่วนแสดงอาคารได้ทั้งหมด ส่วนไฟฟ้าที่เหลือจะขายให้เอกชน

ไทยเล็งปรับใช้เตาเผาขยะรวม

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่น มีระบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบที่มีการคัดแยกขยะมาจากบ้านเรือนและมีวินัยในการทิ้งและแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน ส่งผลให้ในเมืองหรือต่างจังหวัดมีน้อยมากที่จะเห็นกองขยะตามพื้นถนน เพราะคนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยและรักษาความสะอาดทั้งในบ้านและบริเวณภายนอก ประกอบกับภาครัฐ หรือท้องถิ่น มีกฎระเบียบชัดเจนในการเก็บและจัดการขยะ 

ทั้งนี้ จะนำระบบการจัดการขยะและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาปรับปรุงใช้กับการจัดการขยะของไทยให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างวินัยให้กับประชาชนตั้งแต่การคัดแยกขยะไปจนถึงการกำจัดขยะ

สำหรับโรงงานกำจัดขยะไมชิมะ ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากบ้านเรือนและไม่ให้ประชาชนเข้ามาสร้างที่พักอาศัยใกล้กับแหล่งกำจัดขยะ ซึ่งแต่ละวันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะได้มากถึง 32,000 กิโลวัตต์ แบ่งไฟฟ้ามาใช้ในโรงงานกำจัดขยะ 6,000 กิโลวัตต์ ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายให้กับผู้ที่เข้ามาประมูลได้ ภาพรวมต่อปีจำหน่ายไฟฟ้าจากการผลิตขยะได้ถึง 600 ล้านเยน หรือเกือบ 150 ล้านบาทต่อปี จึงมีความน่าสนใจนำไปเป็นต้นแบบการจัดการขยะในประเทศไทย

อ่านข่าวอื่นๆ

3 วิสาหกิจ "หอมมะลิอีสาน" เจาะตลาดข้าวพรีเมี่ยมในเยอรมนี

รับเทรนด์โลกยุคใหม่ สนค.ดัน Event Tourism ชูวัฒนธรรมย้อนยุค

NARIT เผยภาพจุดบนดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ ก่อนเข้าสู่ "Solar Maximum" กลางปีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง