ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

NARIT เผยภาพจุดบนดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ ก่อนเข้าสู่ "Solar Maximum" กลางปีนี้

Logo Thai PBS
NARIT เผยภาพจุดบนดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ ก่อนเข้าสู่ "Solar Maximum" กลางปีนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
NARIT เผยภาพจุดบนดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ ก่อนเข้าสู่ "Solar Maximum" กลางปีนี้

วันนี้ (28 ก.พ.2567) นายธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยบทความ "ต้อนรับอากาศร้อน ด้วยภาพที่ร้อนแรงที่สุด" 

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสงเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2024 เวลา 10.56 น. ตามเวลาประเทศไทย แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ขนาดใหญ่บริเวณซีกเหนือของดาว รวมถึงจุดขนาดเล็กอีก 6-7 จุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบจุดมากขึ้นเรื่อย ๆ เตรียมเข้าสู่ช่วง "Solar Maximum" ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง บางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานมาก และบางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานที่น้อย เกิดเป็นวัฏจักรที่มีคาบประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า "วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)" กล่าวคือ เป็นวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละช่วงดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแตกต่างกัน

โดยช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด เรียกว่า "Solar Maximum" จะเป็น ช่วงที่มี sunspot บนพื้นผิวมากที่สุด และในทางตรงกันข้ามช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานน้อย (เงียบสงบ) และแทบจะไม่มี sunspot บนพื้นผิวเลย เรียกว่า "Solar Minimum"

อ่าน : ร้อนฉ่า! ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.นี้ แตะ 43-44.5 องศาฯ

ขณะนี้ ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงที่มี sunspot เพิ่มมากขึ้น และจากข้อมูลเชิงสถิติโดย National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA [1] คาดการณ์ไว้ว่า ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วง Solar Maximum ในช่วงกลางปีนี้ ดวงอาทิตย์จะมี sunspot เพิ่มมากขึ้น เกิดพายุสุริยะบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งช่วงพีคของ Solar Maximum ในรอบนี้คาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2025 หลังจากนั้นจำนวน sunspot จะค่อย ๆ ลดลง แล้วไปน้อยลงที่สุดในช่วงปี 2033

ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์โลกแต่อย่างใด เนื่องจากสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาคและรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้

แต่สำหรับดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก อาจเกิดความเสียหายต่อระบบวงจรไฟฟ้าได้ รวมถึงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก ก็อาจได้รับปริมาณรังสีและอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น

นายธนกร อธิบายเพิ่มว่า ในช่วง Solar Maximum นี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกตามล่า "แสงออโรรา" เนื่องจากเมื่ออนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงทิศทางของอนุภาคเหล่านี้ให้พุ่งไปยังบริเวณขั้วทั้ง 2 ด้านของสนามแม่เหล็กโลก

จากนั้นอนุภาคจะปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศโลก แล้วเกิดการปลดปล่อยแสงสว่างออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส

โดยบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็กโลกจะอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ พบได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเท่านั้น เป็นที่มาของแสงออโรรา หรือ "แสงเหนือ-แสงใต้"

ดังนั้น การที่ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Maximum ก็จะมีอนุภาคจากดวงอาทิตย์มาปะทะกับโลกในอัตราที่สูงขึ้น ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดแสงออโรรามากกว่าช่วงอื่นนั่นเอง

อ่านข่าวอื่น ๆ

3 วิสาหกิจ "หอมมะลิอีสาน" เจาะตลาดข้าวพรีเมี่ยมในเยอรมนี

จ่อชง ครม.เห็นชอบ "ชุดไทยพระราชนิยม" ดันขึ้นทะเบียนยูเนสโก

อัตราการเกิดญี่ปุ่นปี 2023 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง