นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยในระบบขณะนี้อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าร้อยละ 91 ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับที่อันตราย โดยหนี้ที่อยู่ฐานเครดิตบูโรมีราว 13 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ กยศ.ที่มีมูลหนี้ 480,000 ล้านบาท และหนี้สหกรณ์ฯ 2.2 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้มีหนี้ราว 1 ล้านล้านบาทเป็นหนี้เสียแล้ว แบ่งเป็นหนี้บ้าน 1.8 แสนล้านบาท, หนี้เสียรถยนต์ราว 2.3 แสนล้านบาท, หนี้สินเชื่อบุคคลราว 2.6 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็นหนี้บัตรเครดิต โดยหนี้ในกลุ่มรถยนต์มีอัตราเร่งตัวร้อยละ 28 ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 200,000 คัน
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากคือ หนี้บ้านที่เริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่กำลังจะเสียราว 6.1 แสนล้านบาท เพราะมียอดค้างชำระ 1-2 งวด ซึ่งหนี้ก้อนนี้รัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะเป็นหนี้ที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นกลุ่มคนระดับล่างและกลาง จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสียเพิ่มจากปัจจุบัน เพราะหากปล่อยให้เกิดหนี้เสียพุ่งมากจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจ
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยยอดการผลิตรถยนต์เดือน ม.ค.2567 พบว่าลดลงร้อยละ 12.46 ซึ่งเป็นไปตามยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 54,814 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 16.42 โดยรถกระบะมียอดขายแค่ 14,864 คัน ลดลงถึงร้อยละ 43.47
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ระบุว่า ยอดขายรถที่ลดลงเพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น และความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งผลให้มียอดปฎิเสธสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 50 ทำให้ยอดขายรถกระบะในประเทศลดลง เพราะกลุ่มคนซื้อรถกระบะจะเป็นกลุ่มอาชีพอิสระที่ขาดหลักฐานรายได้
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2567 สินเชื่อเช่าซื้ออาจกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.5 แต่ยังโตต่ำกว่าก่อนช่วงโควิดที่ร้อยละ 6 ขณะที่หนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อร้อยละ 2.22 เพิ่มจากปีก่อนที่ร้อยละ 2.13
อ่านข่าวอื่นๆ
ตร.เตือน 5 ลิงก์มิจฉาชีพ ห้าม “กด-กรอก-ติดตั้ง”