ความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบปัญหาหลักหมุด ส.ป.ก.4-01 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และยังพบเพิ่มในพื้นที่สวนป่าปางอโศก และอีกจุดที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
วันนี้ (23 ก.พ.2567) นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เนื้อที่ของ ส.ป.ก.ตามพระราชกฤษฎีกา จะเกิดขึ้นจากการประกาศทั้งอำเภอ ทำให้ต้องมาจัดการแนวเขตย้อนหลัง วิธีการก็คือหารือร่วมกันใน 9 หน่วยงานรัฐ ที่มีที่ดินอยู่ในมือว่าพระราชกฤษฎีกาแนบท้ายของแต่ละหน่วย ทับซ้อนกันตรงไหน
ขณะที่ประเทศไทยมีเนื้อที่ 320 ล้านไร่ แต่จากข้อมูลของหน่วยงาน 9 แห่ง ทับซ้อนกัน จนมีเนื้อที่มากกว่าเนื้อที่จริงของประเทศ 465 ล้านไร่ เพราะถืออัตราส่วนแผนที่ต่างกัน ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2565 มีมติให้จัดทำวันแมป เพื่อแก้ปัญหา แต่ในระหว่างที่วันแมปยังไม่เสร็จ ถ้าแปลงไหนที่กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูป ก่อนเป็นอุทยานฯ แล้วพบว่าไม่สมควรนำไปปฏิรูป ตามมติ ครม. วันที่ 1 มี.ค.2537 ให้ใช้แนวเขตอุทยานเป็นหลัก
อ่านข่าว ถึงคิว! รุกสวนป่าปางอโศก หมุด ส.ป.ก.โผล่แปลงอดีตลูกจ้างป่าไม้
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบหมุดส.ป.ก.โผล่ในเขตป่าไม้
ยันไม่กระทบโฉนด ส.ป.ก.22 ล้านไร่
สำหรับส.ป.ก.มีพื้นที่ทั้งหมด 40 ล้านไร่ เฉพาะ จ.นครราชสีมา มีเนื้อที่ ส.ป.ก. อยู่ราวๆ 4 ล้านไร่ กระจายอยู่ใน 10 กว่าอำเภอ เฉพาะที่เขาใหญ่มี 37,000 ไร่ มีการจำแนก คืนอุทยานไปแล้ว 3,000 ไร่ เป็นเขตปฏิรูปชัดเจนแล้ว 13,000 ไร่ เหลืออีก 20,000 ไร่ ตอนนี้ที่ต้องจัดการแนวเขต
ปัญหาคือตอนที่ป่าไม้ส่งมอบพื้นที่มา ไม่ได้มีแค่ป่า แต่มีคนติดมาด้วย ส.ป.ก ต้องมาปรับปรุงสิทธิให้ทำกินได้อย่างถูกต้อง ไม่ถือเป็นผู้บุกรุก ส่วนที่ดินว่างเปล่าไม่มีคนถือครอง คทช.ก็ไปจัดแปลงให้ผู้มีรายได้น้อย
พบต้นไม้จำนวนมากถูกตัดออกเพื่อเปิดพื้นที่
ดังนั้นตอนนี้ ส.ป.ก.จะยกเลิกเฉพาะแปลงพิพาท ต.หมูสี 5 แปลง และยกเลิกแนวรังวัดปักหมุด ส.ป.ก.4-01 ที่ทำไปแล้ว เพราะปัญหาอยู่ที่ แผนที่อุทยาน สัดส่วน 1 ต่อ 250,000 ส่วนส.ป.ก.ถือแผนที่ 1 ต่อ 50,000 รอแผนที่วันแมพ ของกรมแผนที่ทหาร ที่จะใช้สัดส่วน 1 ต่อ 4,000
ยืนยันจะไม่กระทบต่อนโยบายแจกโฉนด ส.ป.ก.ที่กำลังทำอยู่ 22 ล้านไร่ ที่พิสูจน์สิทธิเกษตรกร 1.7 ล้านคนเสร็จสิ้น ตรงนี้ไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นแปลงที่เคลียร์เรื่องแนวเขตเอาไว้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไหมที่ ส.ป.ก.เขาใหญ่ ทับลาน เป็นแปลงทองที่ใครก็หมายปอง อยากได้ อยากมี ทุนนอก มองหานอมินี ถือครองแทน นายวิณะโรจน์ บอกว่า มันก็คงมี แต่นี่คือบทพิสูจน์การทำงานของข้าราชการ ที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ
อ่านข่าว จบสวย! ยอมคืนที่ ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่ "โซนนิ่ง" ห้ามจัดสรรที่ดิน
พบหลักหมุด ส.ป.ก.รุกป่าสงวนดงพญาเย็น
ขณะที่การขยายผลการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งนายสวรรค์ สังเกตกิจ อดีตลูกจ้าง หน่วยป้องกันรักษาป่า นม.1 ปากช่อง กรมป่าไม้ เจ้าของรถแบ็คโฮ และรถแทรกเตอร์ ที่นำเข้าไปแผ้วทางป่าเขาใหญ่ปักหมุด ส.ป.ก. อาจบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าปางอโศกอีกด้วย
นอกจากการเข้าตรวจสอบรถ เจ้าหน้าที่ยังได้เข้าตรวจสอบพื้นป่าบริเวณข้างบ้านพักนายสวรรค์ ซึ่งอ้างว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ของตนเอง
แต่จากการเข้าตรวจสอบเจ้าหน้าที่ พบความผิดปกติหลายจุด เช่น สภาพพื้นที่เป็นภูเขาหิน มีต้นไม้ใหญ่ บางส่วนถูกตัดโค่น และมีการระเบิดหินบนภูเขา มีความพยายามนำกล้าพันธุ์ไม้ หลากหลายชนิดเข้ามาปลูกเป็นแนวยาวตามโขดหิน คล้ายกับว่า เพิ่งจะปลูกได้ไม่นาน
ขณะที่การตรวจสอบหลักหมุด ส.ป.ก.ก็พบว่า เป็นหลักหมุดส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมา แต่ลักษณะการปักไม่มั่นคงเหมือนหลักหมุดของทางราชการ
นายสราวุธ อุเทนรัตน์ ผอ.สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 ตรวจสอบพื้นที่แปลงบุกใหม่
นายสราวุธ อุเทนรัตน์ ผอ.สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 ให้ตำรวจป่าไม้ เข้าตรวจสอบการถือครองเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ตรวจสอบกับส.ป.ก.นครราชสีมาว่า ที่ดินได้มาโดยชอบหรือไม่
เนื่องจากพื้นที่พบหลักหมุดส.ป.ก.อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งไม่สามารถนำไปออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.ได้
สำหรับการตรวจสอบครั้งนี้ ไม่พบอดีตลูกจ้างป่าไม้มาแสดงตน และพยายามขัดขวางการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ด้วยการนำดินมาปิดเส้นทางเข้าบ้านพักเจ้าหน้าที่ จึงเข้าแจ้งความไว้ที่ สถานีตำรวจภูธรกลางดง สภ.กลางดง เพื่อดำเนินคดีกับ 2 สามีภรรยาที่บุกรุกที่ดินแปลงนี้
อ่านข่าว จนท.อุทยานฯ นำแบ็คโฮ-รถไถ เทียบรอยขุดในพื้นที่ ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่
"กรมป่าไม้" ได้คืนพื้นที่คืนจากส.ป.ก. 13.6 ล้านไร่
ขณะที่นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก.จำนวน 44 ล้านไร่ และได้มีการกันพื้นที่คืน ตามข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้ และ จำนวน 13.6 ล้านไร่ พื้นที่กันคืนให้กรมป่าไม้ เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถนำไปออก ส.ป.ก.4-01 ได้ตามเงื่อนไขข้อตกลง พ.ศ.2538 จำนวน 7 ประเภท ได้แก่ พื้นที่มีสภาพป่า พื้นที่มีสภาพหรือศักยภาพทำการเกษตรไม่คุ้มค่า พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ภูเขาสูงชัน มีความลาดชันเกิน 35% ขึ้นไป พื้นที่ที่กรมป่าไม้มีภาระผูกพันตามกฎหมาย พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ยังไม่มีราษฎรถือครองทำกิน
ส่วนกรณีนี้ กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือแจ้งหารือถึงสำนักงานนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) แล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2566 เพื่อให้ สคทช.แจ้งส.ป.ก.เพิกถอนเอกสารที่ส.ป.ก.ออกให้แก่ชาวบ้านนอกพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อกรมป่าไม้จะได้นำมาแก้ไขปัญหาตามแนวทาง คทช.ต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ
ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกสุดในรอบปี คืนวันมาฆบูชา 24 ก.พ.นี้
ผบ.ตร.เรียกคุย 2 บิ๊กตำรวจสยบรอยร้าว