วันนี้ ( 23 ก.พ.2567 ) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ส่งออกเดือนม.ค.2567 ขยายตัว ร้อยละ 6 หรือมีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ19 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ย.2565 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.2 การส่งออกของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ส่งผลให้ไทยยังขาดดุลการค้าที่ 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทางการค้า
นายกีรติ ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 ว่า การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว และได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง
ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก แต่ไทยยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต
การส่งออก
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดัน การเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ร้อยละ 1 – 2
ด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร พลิกกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวขยายตัวร้อยละ 9.2 ซึ่งสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 45.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ อิรัก และเยเมน, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร
ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 5.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ ตุรกี และเวียดนาม และ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 30.1 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็นต้น
สินค้าส่งออกไทย
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 27.0 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ,น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 16.2 , ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 58.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 10.3 เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน
ยานยนต์
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 106.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ,ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 3.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน , อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 21.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน เป็นต้น
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ,เคมีภัณฑ์ , เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ , อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
อ่านข่าวอื่นๆ:
"ภูมิธรรม” ถกผู้ช่วยทูตพาณิชย์ทั่วโลก ฟังเสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่
ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ แนะไทยลุยดันส่งออก 20 สินค้า ดาวรุ่ง-ดาวเด่น
พาณิชย์ ส่งออก"ข้าวหอมมะลิ - ลุยเปิดร้านแฟชัน" รุกตลาดฮ่องกง