ในอดีตไทยเคยมีเด็กเกิดใหม่จำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน โดยเมื่อ 60 ปีก่อน อัตราการเจริญพันธุ์หรือผู้หญิงหนึ่งคนจะมีลูกเฉลี่ยประมาณ 6 คน แต่จำนวนดังกล่าวปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือเพียง 1.16 คนเท่านั้น ปัญหานี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นหลังพบว่าในปี 2564 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต และทิศทางดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 และปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเกิดน้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวและโครงสร้างประชากรอย่างมาก
“ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” นักประชากรศาสตร์ และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ระบุว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) จะลดลงจาก 10 ล้านคนเหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือ 14 ล้านคน ส่วนผู้สูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนเป็น 18 ล้านคน
• ทำไมคนไม่อยากมีลูก ?
ด้วยบริบทของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นภาระค่าใช้จ่าย ปัญหาสังคม ความต้องการใช้ชีวิตอิสระ การจดจ่อกับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน รวมไปถึงความหลากหลายทางเพศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการมีลูกลดลง
“สุมิตรา วรสิริมงคล” พนักงานบริษัทเอกชน วัย 29 ปี ในฐานะแม่ของลูกสาววัย 1 ขวบ 11 เดือน เล่าว่า วางแผนมีลูกเพียงคนเดียว เพราะต้องทำงานหาเงิน กลัวว่าจะดูแลลูกได้ไม่เต็มที่ และมองว่าหากรัฐบาลต้องการเพิ่มอัตราการเกิดและอยากให้คนมีลูก ก็ต้องมีการสนับสนุนที่ดีกว่านี้ เพราะการที่เด็กเกิดหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมและดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
ในเวทีประชุม UNFPA Asia-Pacific Regional Office ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีในสถาบันการศึกษาของรัฐ อยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อคน หรือคิดเป็น 6.3 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปีของประชากรในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หากเข้าเรียนในสถานศึกษาของเอกชน
• “เด็กเกิดน้อย” กระทบเศรษฐกิจ-สังคมอย่างไร ?
ศ.ดร.เกื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง จำนวนนี้เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 20,000 แห่ง มีสัดส่วนระหว่างครูและนักเรียนอยู่ที่ 1:14 แต่หากอนาคตมีเด็กเกิดน้อย โรงเรียนก็อาจถูกยุบ ส่วนมหาวิทยาลัยจะประสบปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลง รวมถึงเกิดปัญหาด้านการลงทุนและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพราะขาดแคลนแรงงาน
สอดคล้องกับ “ดร.กิริฎา เภาพิจิตร” ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า อัตราการเกิดต่ำจะกระทบต่อการบริโภค โดยจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยขยายตัวได้ไม่มากเท่าในอดีตและกระทบต่อภาคแรงงาน เนื่องจากจำนวนแรงงานจะน้อยลง ไม่มีคนมาทดแทน ดังนั้นหากไม่เร่งปรับทักษะแรงงาน หรือให้คนมีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาทำงาน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
• ไทยแก่เกินไปที่จะมีลูกหรือไม่ ?
หากเทียบอายุของไทยกับประเทศอื่น ๆ ในโลก เราอาจไม่ได้เป็นประเทศที่มีอายุมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ จากข้อมูลของ The World Fact Book ของ Central Intelligence Agency สหรัฐฯ พบว่า โมนาโก เป็นชาติที่ประชากรมีอายุ (Median Age) สูงสุดในโลกอยู่ที่ 56.2 ปี ขณะที่ “ไทย” เปรียบเสมือนคนวัยกลางคนที่มีอายุประมาณ 41 ปี หรืออยู่ในอันดับที่ 53 ของโลก แต่หากเทียบเฉพาะในอาเซียน ไทยจะมีอายุมากที่สุด รองลงมาคือสิงคโปร์และเวียดนาม ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลในหลายประเทศ พบว่า อายุอาจไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดและจำนวนประชากรมากนัก เพราะบางประเทศมีอายุมากกว่าไทย แต่ยังสามารถมีอัตราการเกิดที่สูงกว่าและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน บางประเทศมีอายุน้อยกว่า แต่ก็มีอัตราการเกิดต่ำกว่าและมีจำนวนประชากรที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่องเช่น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะศึกษาแนวทางการเพิ่มอัตราการเกิดและจำนวนประชากรของทั้ง 2 กลุ่มประเทศ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและเผชิญความล้มเหลว เพื่อถอดบทเรียนสำคัญและนำมาปรับใช้กับไทยต่อไปได้
• ส่องนโยบายต่างประเทศแก้ปัญหา “เด็กเกิดน้อย”
หลายประเทศในโลกเคยเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีแนวทางการแก้ปัญหาแตกต่างกัน และเกือบทุกประเทศที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้รัฐบาลได้ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด
ยกตัวอย่าง “เกาหลีใต้” ซึ่งมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 0.8 สาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีใต้ไม่อยากมีลูกมาจากที่พักอาศัยราคาแพง การแข่งขันทางการศึกษา รวมทั้งความกดดันเรื่องเพศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติที่ทำให้มีผู้ชายเข้ารับราชการทหารน้อยลง
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกนโยบายหลายอย่างเพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก เช่น ปรับนโยบายลาพักของผู้เลี้ยงดูเด็กให้นานขึ้นและรับเงินเดือนเต็มจำนวน ลดดอกเบี้ยจำนองอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนมีลูก แต่ก็ยังไม่เห็นผลและเกาหลีใต้ยังคงมีอัตราการเกิดรั้งท้ายของโลก ปัญหาอัตราการเกิดต่ำของเกาหลีใต้จึงกลายเป็นวาระแห่งชาติและเป็นประเด็นสำคัญที่นักการเมืองหลายพรรคใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้
ขณะที่ “จีน” ดำเนินนโยบายลูกคนเดียวมาเป็นเวลานานและได้ผ่อนคลายนโยบายนี้ในช่วงปี 2557-2559 หลังเริ่มเห็นสัญญาณเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงมาก จนกระทั่งปี 2562 อัตราการเกิดในจีนต่ำสุดในรอบ 70 ปีและลดลงต่อเนื่อง รัฐบาลจีนจึงปรับนโยบายให้ประชาชนมีลูกได้ถึง 3 คน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนบางส่วนไม่อยากมีลูก เช่น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียนมีราคาสูงสวนทางกับรายได้ รวมถึงกังวลเรื่องความปลอดภัยและความไม่เท่าเทียมทางเพศ
กระนั้นยังมีชาติที่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้สำเร็จ คือ “สวีเดน” ที่ออกนโยบาย “สปีดพรีเมียม” สำหรับผู้เลี้ยงดูบุตรที่เคยมีลูกแล้วและมีลูกคนต่อไปภายใน 30 เดือนหลังมีลูกคนแรก สามารถรับค่าตอบแทนในวันหยุดเท่ากันกับวันลาหยุดเลี้ยงดูลูกคนก่อน เพื่อให้พ่อแม่วางแผนมีลูกอายุใกล้กันและใช้เวลาดูแลเด็กได้อย่างต่อเนื่อง นโยบายนี้ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็น 2.14 จากเดิมอยู่ที่ 1.61
ทว่าต่อมา อัตราการเกิดของสวีเดนได้ปรับลดลงในช่วงปี 2543 เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงออกนโยบายเพิ่มเติมกำหนดให้การลาหยุดงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถจัดสรรเวลาได้ว่าจะหยุดเต็มเวลาหรือครึ่งเวลาจนกว่าลูกจะมีอายุครบ 12 ปี รวมถึงอนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้ นโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยให้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กลดลง ทำให้ปี 2544 มีเด็กเกิดใหม่มากถึง 3-5 คนต่อแม่ 1,000 คน จนอัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และในปี 2565 มีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.84 นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศ ทำให้ประชากรในสวีเดนเติบโตขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับ “ออสเตรเลีย” ใช้นโยบายเปิดรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 2559 ทำให้ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จาก 7.4 ล้านคนเป็น 24.2 ล้านคน และสัดส่วนของประชากรก็มีความหลากหลายเพราะปรับเปลี่ยนเกณฑ์รับผู้อพยพเป็นแบบไม่เลือกปฏิบัติ เน้นใช้เกณฑ์คัดเลือกทางเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการย้ายถิ่นฐาน โดยในปี 2566 ออสเตรเลียมีประชากรประมาณ 26.4 ล้านคน มีอัตราส่วนของผู้ย้ายถิ่นฐานอยู่ที่ 6.39 คนต่อประชากร 1,000 คน
ทั้งนี้ ตัวเลขการย้ายถิ่นฐานสุทธิ (Net Overseas Migration : NOM) จากเอกสารงบประมาณของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า NOM ส่งผลต่อการเติบโตของประชากรอย่างมีนัย โดยช่วงปี 2561-2562 อยู่ที่ 239,700 คน, ปี 2562-2563 ลดลงเหลือ 154,100 คน, ปี 2563-2565 ซึ่งอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นตัวเลขติดลบ ก่อนปรับขึ้นมาที่ 95,900 คนในช่วงปี 2565-2566 และคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 201,100 คนในช่วงปี 2566-2567
ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ช่วงปี 2562-2563, 2563-2564 และ 2564-2565 การขยายตัวของประชากรชะลอลงเหลือร้อยละ 1.2, 0.2 และ 0.4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของประชากรที่ต่ำที่สุดในรอบร้อยปี
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนประชากรด้วยการเปิดรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน เป็นนโยบายที่บางประเทศใช้ได้ผล ดร.กิริฎา มองว่า หากประเทศไทยจะดำเนินนโยบายนี้เพื่อหวังดึงคนเข้ามา ก็ควรส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อมองภาคแรงงานที่ในอนาคตจะมีคนน้อยลง การเปิดรับคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาทำงานจะช่วยได้มาก
• วาระชาติ “ส่งเสริมมีบุตร” แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย
สำหรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทย กำหนดให้การมีบุตรเป็น 1 ใน 12 นโยบายสำคัญเร่งด่วน คือ การส่งเสริมการมีบุตร ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว แบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระเลี้ยงดูบุตร ช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งเป้าทำให้สำเร็จภายใน 100 วัน รวมถึงมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ในอายุที่น้อยลง ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรแล้ว 800 แห่ง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ระบุว่า เป้าหมายคืออัตราการเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก 1.08 มาอยู่ที่ 2.1 ต่อแสนประชากร โดยรักษาอัตราการเจริญพันธุ์ช่วงปี 2566-2570 ให้ไม่ต่ำกว่า 1.0 และขั้นต่อไปจะพยายามเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมราว 1.5 ในปี 2585 เพื่อรักษาจำนวนประชากรไม่ให้น้อยกว่า 33 ล้านคน
ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน นักประชากรศาสตร์
ขณะที่ ศ.ดร.เกื้อ มองว่า การแก้ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” ต้องเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับสภาพสังคมปัจจุบัน ประชากรยุค Post Modern ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะอยู่ด้วยค่านิยมและความเชื่อ จึงควรนำเสนอวิธีการและขั้นตอนในลักษณะอธิบาย โดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มนี้เห็นด้วย ดังนั้นนักวางแผนต้องเข้าใจประชากรที่จะเป็นวัยแรงงานในอนาคต เน้นการสร้างเรื่องราวเพื่อให้คนกลุ่มนี้รับรู้ เข้าใจและอยากมีลูก
การใช้นโยบายลักษณะนี้เป็นการโน้มน้าวให้คิด ไม่ได้บังคับให้แต่งงานหรือบังคับให้มีลูก เพียงแต่บอกว่า คนที่มีครอบครัวมีแนวโน้มสุขภาพดีและมีเงินออมมากกว่า ส่วนคนที่มีครอบครัวและมีลูกจะมีสุขภาพดี มีเงินออมมากกว่าคนที่มีครอบครัวแต่ไม่มีลูก เป็นสิ่งที่มีงานวิจัยยืนยัน ศ.ดร.เกื้อ กล่าว
ฉะนั้น การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยในเวลานี้ หรือแม้แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อหวังเพิ่มจำนวนประชากรไทย อาจต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป วางแผนนโยบายอย่างรอบคอบและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะการเกิดอาจไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยชวนให้คิดก่อนตัดสินใจที่จะมีลูก
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นผลงานที่จัดทำโดยผู้เข้าร่วมอบรม (กลุ่ม 3) หลักสูตรโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ปั๊มลูกกู้ชาติ" แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย วัยแรงงานทิ้งช่วงยาว 20 ปี
สธ.ห่วงเด็กเกิดน้อย เร่งส่งเสริมมีลูก-ตั้งคลินิกหนุนจังหวัดละ 1 แห่ง
Aging Society ไทยเข้าสู่สังคม"แก่เต็มขั้น" สวนทางเด็กเกิดน้อย