วันที่ 24 พ.ค. 2567 รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันจะพ้นวาระ ทำให้รั้วยูงทองต้องสรรหาอธิการบดีคนใหม่ให้ได้ในปี 2567 เปิดรายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอเข้ามาพบว่า 3 แคนดิเดต คือ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ,ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีและกรรมการสภามหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ 2567)ผู้ปฎิบัติงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาจะร่วมใช้สิทธิเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
หากย้อนกลับไปดูบรรยากาศเวทีดีเบต "เวทีสุดท้าย โค้งสุดท้าย" เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ทีมข่าวไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ คู่ชิงตำแหน่งอธิการบดี ทั้ง 2 คน คือ ผศ.ดร.ปริญญา และรศ.ดร.พิภพ ถึงวิสัยทัศน์และทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต
วอนรัฐเปิดกรงขัง ทวงความเป็นเลิศแข่ง ม.ชั้นนำ
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า อธิการบดีธรรมศาสตร์จะคิดถึงแต่เรื่องธรรมศาสตร์ไม่ได้ เพราะปัญหาที่เกิดในธรรมศาสตร์ มาจากนอกธรรมศาสตร์ มาจากกระทรวงอุดมศึกษา กฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบมาตั้ง 9 ปี แต่ยังอยู่ในระเบียบราชการ
นี่คือปัญหาของภายนอกระบบจำนวนมาก มธ.ต้องการความคล่องตัว และความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่รัฐบาลหรือกฎหมายของรัฐ ยังคงขังเราไว้ในระเบียบราชการแล้วความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไทย ที่จะไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจะมีได้อย่างไร
ผศ.ดร.ปริญญา บอกว่า เหตุที่พูดแบบนี้เพื่อจะบอกว่า อธิการบดีธรรมศาสตร์จะต้องชวนอธิการบดีจุฬาฯและมหิดล รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ มาช่วยกันเปลี่ยนแปลง หรือเรื่องหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัดประกันคุณภาพ จากกระทรวงต่างๆ มาสร้างภาระให้กับมหาวิทยาลัยมากเกินไป จนไม่มีเวลาทำงานให้มีคุณภาพ
และต้องใช้เวลาหมดไปกับการกรอกข้อมูลต่างๆมากมาย เป็นเรื่องใหญ่ที่มหาวิทยาลัยไทยต้องจับมือกัน อธิการบดีธรรมศาสตร์ นอกจากจะต้องทำให้มธ.เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน เป็นที่พึ่งของประชาชน และยังต้องทำมากกว่าเรื่องของธรรมศาสตร์ รวมทั้งเรื่อง T-CASการรับเข้าแล้ว ต้องคุยเรื่องปัญหาอะไรที่เป็นปัญหาร่วมกันของมหาวิทยาลัยไทย
ต้องเอาปัญหามาวางแล้วระดมสมองของอธิการบดีช่วยกันหาทางแก้ ชวนรัฐบาล ตรงไหนเกิดจากรัฐบาลเราบอกรัฐบาลให้แก้
ผศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวถึงการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้แสดงออกทางการเมือง ว่า ในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองอย่างปลอดภัย นักศึกษาสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมาย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆตำรวจจะเข้ามาจับนักศึกษาได้
และในฐานะที่เป็นรองอธิการบดีในยุคนั้น ก็ไม่เคยยอม ต้องคุยกันก่อน เป็นไปตามขั้นตอน คือ ต้องเชิญตัว ไม่ใช่มาจับกุมต้องแจ้งข้อหา ต้องมีหมายเรียกก่อนไม่ใช่หมายจับเลย ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรจะได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันด้วย
เข้าใจว่าตำรวจเข้ามาหาข้อมูล รายงานคนที่สั่งมา แต่ต้องไม่ใช่การคุกคาม มหาวิทยาลัยต้องปกป้องเรื่องนี้ และธรรมศาสตร์ต้องเป็นตัวอย่าง ว่า กิจกรรมทางการเมืองก็เป็นกิจกรรมนักศึกษาอย่างหนึ่ง เราบอกว่าบุคคลมีเสรีภาพการแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นเราก็ต้องปกป้องนักศึกษาของเราที่แสดงออกภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ
พลิกโฉมมธ.สู่เวทีโลก-เปลี่ยน Platform เรียนรู้
ขณะที่ รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า มีความตั้งใจอยากจะนำพามหาวิทยาลัยให้ก้าวไกลไปในเวทีโลก ปรับเปลี่ยนหลายรูปแบบเพื่อที่จะทำให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลก เพราะว่าโลกในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย
ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่เรียกว่า “ความรู้อายุสั้น”แต่ “คนอายุยาว” มหาวิทยาลัย เดินในรูปแบบเดิมไม่ได้ ถนนทุกสายไม่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป
จึงมีหลายเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะทำให้ยังมีความหมายในสังคม จึงอยากอาสาพามหาวิทยาลัยไปเวทีโลก สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและก็ยืนหยัดในจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ เดินหน้าสร้างความสุขให้กับบุคลากรให้กับนักศึกษาในทุกๆ กลุ่ม
รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น Platform ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การเรียนรู้จาก Partner ต่างๆและคอยทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการระดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ
ทั้งภายในและภายนอก มาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศ เราจะตอบโจทย์ ของการที่จะทำให้ คนมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข สุขภาพดีและแข็งแรงขึ้นด้วย
“โลกที่ ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว ความรู้ที่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอให้ทำงานไปได้จนเกษียณ ทำอย่างไร จะเปิดให้คนกลับมาเติมเต็มความรู้ และทักษะที่ขาดหายได้ง่ายๆและตอบโจทย์การเรียนรู้ในทุกๆ Generation อันนี้คือหัวใจ โดยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ในการคิดในการทำ เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าตัวเองเสมอ และนี่คือจุดสำคัญของมธ."
จัดเปิดเวที-พื้นที่ปลอดภัยให้แสดงออกทางการเมือง
ส่วนการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการแสดงออกทางการเมือง รศ.ดร.พิภพ บอกว่า จิตวิญญาณธรรม ศาสตร์ มี 3 เสาหลัก คือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับนักศึกษาและบุคลากรทุกกลุ่ม ในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีภาพ ภายใต้กฎหมาย ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และความรับผิดชอบของผู้แสดงความคิดเห็น
ในฐานะอธิการบดีเราจะต้องเจรจากับหน่วยงานความมั่นคง หากมีการมาคุกคามพื้นที่ปลอดภัยในสถานบันการศึกษา เป็นสิ่งที่ไม่ได้และไม่ควรทำ
ร.ศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องเจรจากับตำรวจที่ดูแลเรื่องความมั่นคงโดยรอบมหาวิทยาลัย และวิทยาเขตทั้ง4 ศูนย์ หากไม่ใช่เหตุละเมิด หรือรุนแรงเฉพาะหน้า ที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข จัดการ ต้องขออนุญาตมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าพื้นที่ ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ และเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
โดยต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างมีสันติภาพ และความสร้างสรรค์ การขัดขวางการแสดงออกไม่ใช่สิ่งที่ดีและมันจะหลายเป็นระเบิดเวลาของสังคมในที่สุด
ร.ศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย ที่การันตีเสรีภาพและความปลอดภัยในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นทั้งนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร หน่วยงานความมั่นคงต้องทำงาน อันนี้เราเข้าใจ แต่ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน และก่อนเข้าพื้นที่ควรจะต้องมีการขออนุญาตและเจรจากับเราเสมอ โดยที่เราจะจัดบุคลากรของเราร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คู่กับฝ่ายมั่นคงและความปลอดภัย
เสียงจากนักศึกษา อยากให้มธ.เป็นธงนำการเมือง
ในขณะที่ นัสรี พุ่มเกื้อประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชวัลวิทย์ บุญช่วย รองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนนักศึกษา บอกว่า พวกเขามีความคาดหวังกับอธิการบดีคนใหม่ ควรเป็นคนที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร เข้ามาพัฒนาธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แค่เพียงในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ควรกลับมีบทบาทในระดับประเทศ
อย่างไรก็ตามนักศึกษา เห็นว่า ในเชิงนโยบายแคนดิเดตทั้ง 3 คน ไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก และอยากให้สนใจเรื่องของสวัสดิการนักศึกษา การแก้ไขปัญหาของนักศึกษา เช่น เรื่องของค่าครองชีพ ค่าหอพัก ค่าอาหาร ระบบขนส่งสาธารณะในมหาวิทยาลัย
และนโยบายที่แก้กฎระเบียบหรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เพราะว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกจากระบบมาตั้งแต่ปี 58 มีพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถจัดการระบบภายในของตัวเองได้ แต่กลับมีระเบียบอะไรต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ อาจารย์ ไม่สามารถประสานงานบูรณาการทำงาน จนส่งผลกระทบมาถึงนักศึกษา คือ จะทำอะไรก็ติดขัด ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างของมหาวิทยาลัยได้จริง
นัสรี และชลวิทย์ เห็นพ้องกันว่า อยากให้ธรรมศาสตร์กลับมานำสังคม และเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกครั้ง สิ่งสำคัญและทำให้ธรรมศาสตร์แตกต่างจากที่อื่น ไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาการอย่างเดียว แต่คือเรื่องของการเมือง
การเมืองไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาด หรือสิ่งที่น่ากลัว หากมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทน เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ มันมีปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นมากมาย แต่ว่าบทบาทของธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นเหมือนในอดีต
ที่เป็นผู้นำและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ขาดการมีส่วนร่วมทั้งประเด็นทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาหรือว่ามหาวิทยาลัยเองอาจจะน้อยลงไปตามสถานการณ์
นัสรี และชลวิทย์ ต่างคาดหวังว่า อธิการคนใหม่จะพาธรรมศาสตร์กลับไปสู่จุดเดิม ธรรมศาสตร์ควรยืนหยัด อยู่ข้างความถูกต้อง ตอนนี้สังคมไทยเกิดปัญหาหลายๆ อย่าง ทั้ง วิกฤตทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ ช่วยคิดหาทางออก และยืนหยัดข้างความถูกต้อง
นอกจากนี้อธิการบดีควรส่งเสริมให้บุคลากร หรือนักวิชาการตอบ คำถามกับสังคม หรือในแง่ของพื้นที่ธรรมศาสตร์สามารถเปิดพื้นที่ให้กับทุกๆความคิดเห็น ทุกๆความเชื่อ สามารถถกเถียงหรือ แลกเปลี่ยนกันได้ และมีบทบาทในการผลักดันกฎหมาย เช่น พรบ.นิรโทษกรรมประชาชนที่เป็นร่างของประชาชนที่เข้าชื่อมา มากกว่า 35,000 กว่ารายชื่อและเตรียมจะยื่นเข้าสู่สภาแล้ว ล
อยากให้มีการนำเสนอ ให้ความรู้ ความเข้าใจ หาทางออกให้กับสังคม เพื่อที่จะได้คืนสิทธิเสรีภาพให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำวันนี้
และนี่คือส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น และความคาดหวังในตัวของอธิการบดีมธ.คนใหม่ ที่กำลังจะผลัดใบเข้ามาแทน
รายงานโดย: มินตรา มีเนตร์ และณัฐพล อรุณพิทักษ์ศักดิ์