วันนี้ (21 ก.พ.2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก กรณีพบแท่งย้วยสีขาว คล้ายหนวดปลาหมึก ในคนที่ฉีดวัคซีนโควิด mRNA หรือเรียกว่า "White Clot" ว่า
ขณะนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะมีการออกแถลงการณ์อย่างชัดเจนทางด้านวิชาการในเรื่องดังกล่าว ส่วนข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็ปราฎชัดแล้ว
ด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ “Center for Medical Genomics” ระบุว่า การพบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของศพมีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่มี วิดีโอยูทูปที่ชื่อ "เสียชีวิตกะทันหัน 2022 (died suddenly 2022)" เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2565 หรือ 2 ปีที่แล้ว โดยอ้างว่าพบลิ่มเลือดหลังการชันสูตรศพเป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นว่าฝ่ายหนึ่งมีแผนลดจำนวนประชากรโลกโดยใช้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
แต่ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ วิดีโอดังกล่าวนำเสนอว่า มีผู้ฉีดยารักษาศพและผู้อำนวยการงานศพจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่าพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในศพถือเป็นความผิดปกติที่ไม่เคยพบมาก่อน และคาดว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้หักล้างคำกล่าวอ้างเหล่านี้ โดยระบุว่าลิ่มเลือดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นลิ่มเลือดที่พบบ่อยหลังการชันสูตรพลิกศพ
สมาคมผู้อำนวยการงานศพแห่งชาติ(สหรัฐอเมริกา) เน้นย้ำว่าผู้เชี่ยวชาญด้านงานศพและฉีดยารักษาศพไม่มีคุณสมบัติที่จะสรุปผลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดและลิ่มเลือด วิดีโอดังกล่าวยังรวมถึงฟุตเทจที่นำมาจากวิดีโอการศึกษาทางการแพทย์ที่โพสต์บน YouTube ในเดือนเมษายน 2019
แสดงให้เห็นขั้นตอนที่เรียกว่าการผ่าตัดเอาหลอดเลือดอุดตันในปอด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ตรวจสอบวัคซีนรับรองวัคซีนรุ่นการผลิตดังกล่าว ยืนยัน ว่า วัคซีนความปลอดภัย แต่ในส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังรับวัคซีน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การพบเนื้อเยื่อผิดปกตินั้น ก็พบแล้วไม่เป็นความจริง แพทย์นิติเวชได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เป็นเรื่องปกติที่พบลักษณะเช่นนี้ในร่างกายมนุษย์
อย่างไรก็ตามอยากให้ประชาชนฉุกคิด เรื่องของการได้รับข้อมูลทางการแพทย์ ว่า ไม่ควร เชื่อถือข้อมูลที่เป็นในลักษณะบุคคล แต่ควรให้ความเชื่อถือที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรแพทย์ เช่น ออกมาในนาม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : AI จ่ายยา-เอ็กซ์เรย์ แผนรับมือแก้ปัญหาผู้ป่วยล้น "รพ.รามาธิบดี"
อนุฯ พม.ชงปรับ “เบี้ยเด็กแรกเกิด-คนพิการ-ผู้สูงอายุ” ขยายวันลาคลอด