ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เวียนเทียน "วันมาฆบูชา" กี่โมง สวดบทไหน ได้อานิสงส์อะไรบ้าง

ไลฟ์สไตล์
23 ก.พ. 67
14:24
32,722
Logo Thai PBS
เวียนเทียน "วันมาฆบูชา" กี่โมง สวดบทไหน ได้อานิสงส์อะไรบ้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เวียนเทียน" ถือเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นในวันสำคัญทางศาสนา 4 วัน คือ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันอัฐมีบูชา และ วันมาฆบูชา ที่ปีนี้ 2567 ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และทำไมเราต้องเวียนเทียน การปฏิบัติที่ถูกต้อง

       ในวันสำคัญทางศาสนาอย่าง "วันมาฆบูชา 2567" ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นอีกหนึ่งวันที่พุทธศาสนิกชนจะออกไปทำบุญ ไหว้พระ และเวียนเทียน ที่วัดใกล้บ้าน เพื่อเสริมบุญและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หลายคนสงสัยทำไมเราต้องเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา ขั้นตอนอย่างไรถึงจะถูกต้อง และยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเวียนเทียน ติดตามได้เลย 

บทสวดเวียนเทียน

บทสวดเวียนเทียน

บทสวดเวียนเทียน "วันมาฆบูชา"

อ่าน ความสำคัญ "วันมาฆบูชา 2567" กับข้อพึงปฏิบัติสำหรับชาวพุทธ 

การเวียนเทียน สำคัญอย่างไร

       การเวียนเทียน คือ พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมพิธีจะต้องเดินเวียนรอบพระอุโบสถ วิหาร พระพุทธรูป หรือปูชนียสถาน 3 รอบ ถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญ จัดขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย  

การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถาน เรียกว่า เวียนประทักษิณาวัตร ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากอินเดีย เพื่อแสดงความเคารพบูชาพระรัตนตรัย 

โดยมากมักจะเดินรอบพระอุโบสถหรือพระพุทธรูป โดยถือ 3 อย่าง ได้แก่ เทียน ธูป ดอกไม้ 1 คู่ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง หรือพวงมาลัยดอกไม้ไว้ในมือเพื่อเป็นเครื่องบูชา พร้อมธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม สักการะบูชา 3 รอบ ขณะเดินพึงตั้งจิตให้สงบพร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ 

พุทธศาสนิกชน ถือเอาวันสำคัญทางศาสนา ทำจิตใจให้ผ่องใส ทำความดี ละเว้นความชั่ว

อานิสงส์ของการเวียนเทียน

  1. ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
  2. ทำให้ให้กายสำรวมขึ้น มีความสงบ มีจิตใจที่สะอาด มีสมาธิ เพราะขณะที่เวียนเทียนเราต้องมีความสำรวมกาย วาจา ใจ  
  3. ช่วยให้ไม่ลืมตัว ลดทิฐิ
  4. เมื่อกายและใจสงบเย็น จะสามารถสลัดออกจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้

สำหรับการถือปฏิบัติ/กิจกรรมที่ศาสนิกพึงปฏิบัติ (ในวันสำคัญ)

  • ตักบาตรหรือ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษ สามเณร
  • การสำรวมกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล 5 หรือศีล 8
  • การฟังพระธรรมเทศนา
  • การเวียนเทียน รอบพระอุโบสถหรือรอบพระบรมสารีริกราตุจนครบ 3 รอบ เพื่อระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

เวียนเที่ยนกี่โมง

       ในวันมาฆบูชา 24 กุมภาพันธ์ 2567 นอกจากในช่วงเช้าจะไปทำบุญ ไหว้พระแล้ว ในช่วงเย็นหลายคนจะไปเวียนเทียนที่วัด โดยส่วนใหญ่นิยมไปเวียนเทียนช่วง ประมาณ 16.00 - 20.00 น. แต่ในปัจจุบันนี้วัดหลายแห่งมีการขยับเวลาการเวียนเทียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนในชุมชนเมืองมากขึ้น บางวัดเปิดให้เข้ามาเวียนเทียนได้ตั้งแต่ช่วงเช้า 06.00 น.

บทสวดเวียนเทียน 3 รอบ  

1. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ประธานในพิธี กล่าวคำนำบูชาในวันมาฆบูชา ทุกคนประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนกล่าวตาม

2. หลังจากกล่าวคำบูชาจบ ประธานสงฆ์จะนำเวียนเทียน โดยเวียนทักษิณาวรรต (เวียนขวา)  และท่องบทสวด ดังนี้

รอบที่ 1 รำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า 

"อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ"

รอบที่ 2 รำลึกคุณพระธรรม 

"สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ"

รอบที่ 3 รำลึกคุณพระสงฆ์  

"สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ"

ทั้งนี้ เมื่อเวียนครบ 3 รอบ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ ณ จุดที่กำหนด

สิ่งที่ควรปฎบัติขณะเวียนเทียน

1. เมื่อเริ่มเวียนเทียนให้สำรวม กาย วาจา ใจ

2. รักษาระยะห่างการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้า ไม่ให้ความร้อนจากธูป เทียน เป็นอันตรายต่อผู้อื่น

3. เดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไมเดินแซงกัน ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป

4. ไม่พูดคุย หยอกล้อ ส่งเสียงระกวนผู้อื่นขณะเวียนเทียน

5. เจริญจิตภาวนาระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

6. หลังจากเวียนเทียนเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้

อานิสงส์ของการเวียนเทียน เชื่อกันว่า จะทำให้ จิตใจตื่นเบิกบาน เกิดความปิติยินดี ทำให้จิตใจสงบบริสุทธิ์ เป็นสมาธิ และเกิดปัญญา 

เวียนเทียนออนไลน์ วันมาฆบูชา 2567

       ร่วมกันเวียนเทียนออนไลน์ที่นี่ โดยเริ่มกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 67 เวลา 00.01 น. เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์เวียนเทียนออนไลน์ ให้ทำตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ให้เลือกเมนู “เวียนเทียนออนไลน์” 
  2. กดเลือกแพลตฟอร์มที่ต้องการเข้าสู่ระบบ
  3. กดปุ่ม เริ่ม/Start
  4. กดเลือกเวียนเทียนคนเดียว หรือ เวียนเทียนคู่
  5. กดเลือกคาแรกเตอร์ ซึ่งเป็นลักษณะตัวการ์ตูน เพื่อใช้ในการเวียนเทียน มีทั้งหญิง ชาย ผู้สูอายุ และเด็ก
  6. ทำการอัพโหลดรูปภาพจากคลัง หรือถ่ายรูปใหม่ (จะไม่อัพก็ได้)
  7. กดเลือกสถานที่ ซึ่งมีทั้ง วัดในประเทศไทย (กดค้นหาชื่อวัด), สังเวชนียสถาน และวัดไทยในต่างประเทศ
  8. เริ่มเวียนเทียนออนไลน์

การเวียนเทียนออนไลน์ นอกจากจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จากควันธูปแล้ว ยังช่วยสืบสานประเพณีทางพุทธศาสนาได้ด้วย

การ "เวียนเทียน" จัดขึ้นในวันสำคัญทางศาสนา 4 วัน

คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฐมีบูชา 

วันมาฆบูชา

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567

วันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก โดยมีเหตุการณ์สำคัญ คือ

  • พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  • วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่ง พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
  • พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
  • พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

วันมาฆบูชา เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น 4 อย่าง จึงเรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หมายความว่า การประชุมด้วยองค์ 4

วันวิสาขบูชา 

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 6 หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก และกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขา ของทุกปี 

วันนี้ในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเข้าวัดบำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมแล้ว จะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

วันอาสาฬหบูชา

(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567)

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทาง พระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก คือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ ทั้ง 5 โดย 1 ใน 5 องค์ ที่ชื่อว่า โกณฑัญญะ ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน และอุปสมบทเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา

วันอาสาฬหบูชา ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยคณะสังฆมนตรี เมื่อ พ.ศ.2501 พร้อมทั้งยังกำหนดพิธีขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ "วันวิสาขบูชา"

วันอัฏฐมีบูชา

แรม 8 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567

วันอัฏฐมีบูชา ถือเป็นวันที่มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากสเด็จปรินิพพาน 8 วัน และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม วันอัฏฐมีบูชา แม้จะเป็นวันสำคัญ แต่ในบางวัดจะไม่มีการจัดพิธีกรรมทางศาสนา และการเวียนเทียน ซึ่งในปี 2567 วันอัฏฐมีบูชา จะตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 

วันมาฆบูชาในทุกปี นอกจากการเวียนเทียน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้ประชาชน อีกด้วย

อ่านข่าวอื่น ๆ

ประวัติความเป็นมา "วันอาสาฬหบูชา" ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

เคล็ดวิธีรับมือ เมื่อมนุษย์เงินเดือน "ถูกเลิกจ้าง-ตกงาน" กะทันหัน

"29 กุมภาพันธ์" 4 ปีมีหน "ความอลวน" นานนับพันปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง