จอมพลสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน
คือชื่อที่กระทรวงข่าวสารของกัมพูชาสั่งให้สื่อมวลชนใช้เรียกขาน นายฮุน เซน ชายผู้มีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวนา แต่นำพาตนเองสู่เส้นทางการเมือง จนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ครองอำนาจยาวนานที่สุดคนหนึ่งของโลก
สำนักข่าว BBC ระบุว่า ในขณะเดียวกัน นายฮุน เซน ก็เป็นผู้นำที่เผชิญข้อครหาเรื่องการใช้อำนาจศาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นเครื่องมือในการข่มขู่และกำจัดการกับเสี้ยนหนามทางการเมืองตลอดเวลาที่ปกครองกัมพูชา
จากลูกชายชาวนาสู่นายกรัฐมนตรี
นายฮุน เซน เกิดที่ จ.กำปงจาม ทางภาคกลางของกัมพูชาเมื่อปี 1952 เขาเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้อง 6 คนในครอบครัวชาวนา และมีชื่อเดิมว่า "ฮุน โบนาล" ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ฮุน เซนได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา เมื่ออายุ 18 ปี โดยมีข้อมูลว่าเขาเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเขมรแดงด้วย แต่เจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด พร้อมยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าทหารธรรมดาคนหนึ่ง
ฮุน เซน ในอดีต
ต่อมาในสมัยการปกครองของ นายพอล พต อดีตผู้นำเขมรแดง ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 มีชาวกัมพูชากว่า 2,000,000 คนถูกสังหาร ฮุน เซน ได้หลบหนีไปเข้าร่วมกับฝ่ายที่ต่อต้านเขมรแดงในเวียดนาม จน 9 ปีต่อมา เวียดนามตั้งรัฐบาลใหม่ในกัมพูชา ฮุน เซน จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิด ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1985 ขณะมีอายุ 33 ปี
นับเป็นนายกฯ ที่มีอายุน้อยที่สุด และยังได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี เป็น สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน เมื่อเดือน ต.ค.2550
อ่าน : จาก "ฮุน เซน" ส่งต่ออำนาจ 4 ทศวรรษกุมกัมพูชาสู่ "ฮุน มาเนต"
ยืมมือหน่วยงานอื่นขจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง
ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จฮุน เซนอยู่ในอำนาจ มีบทบาทสำคัญช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจกัมพูชาหลังจากประเทศต้องเผชิญกับห้วงเวลาแห่งความหายนะในยุคเขมรแดงในช่วงศตวรรษที่ 20
แต่ในขณะเดียวกัน สมเด็จฮุน เซน ก็ถูกมองว่าเป็นผู้นำที่เผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย เขาถูกกล่าวหาว่าใช้ศาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงในการกำจัดศัตรูทางการเมืองและกลุ่มผู้เห็นต่าง การใช้อำนาจตามอำเภอใจในการจับกุมบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านกรณีที่รัฐบาลกัมพูชา ใช้สารพัดวิธีเพื่อนำที่ดินของชาวบ้านไปให้เหล่านายทุนใช้ประโยชน์
สมเด็จฮุน เซน
ในเดือน ส.ค.2017 รัฐบาลสมเด็จฮุน เซน สั่งปิดสถานีวิทยุหลายแห่งที่กระจายเสียงรายการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต้องยุติการตีพิมพ์ลง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังผ่านกฎหมายให้อำนาจยุบพรรคการเมืองต่างๆ ได้ หากหัวหน้าพรรคถูกตั้งข้อหาอาญา รวมถึงผ่านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี สำหรับผู้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทำให้องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความกังวลว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
"ทักษิณ-ฮุน เซน" มิตรภาพก้าวข้ามการเมือง
ภาพการรวมตัวของ 2 ครอบครัวอดีตผู้นำไทย-กัมพูชา ในงานวันคล้ายวันเกิดปีที่ 72 ของสมเด็จฮุน เซน ที่บ้านพักของเขาในเมืองตาเขมา จ.กันดาล ทำให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ ทักษิณ ชินวัตร และ สมเด็จฮุน เซน
ตระกูลชินวัตรพบตระกูลฮุน เมื่อวันเกิดปีที่ 72 ของสมเด็นฮุน เซน
The Phnom Penh Post รายงานความผูกพันระหว่าง ฮุน เซน และ ทักษิณ ที่ย้อนกลับไปในปี 1992 ตั้งแต่ก่อนที่นายทักษิณจะชนะเลือกตั้งเป็นนายกฯ ของประเทศไทย พวกเขาเริ่มนับถือกันและกันในฐานะ "Godbrothers หรือ พี่น้องร่วมสาบาน" แม้รัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์จะถูกรัฐประหาร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ตระกูลผู้นำประเทศยังคงเดินหน้าต่อไป
เราไม่ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ฮุน เซน และ ทักษิณ ลดลง ความสัมพันธ์นี้ยังมั่นคง
แม้ครอบครัวชินวัตรจะเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมือง
แต่ ฮุน เซน ไม่เคยปล่อยให้สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์
กิน เพีย ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งกัมพูชาให้สัมภาษณ์ แสดงความเห็นในวันที่ ทักษิณ บินตรงร่วมแสดงความยินดีวันเกิด สมเด็จฮุน เซน เมื่อเดือน ส.ค.2023 ที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ของ 2 อดีตผู้นำประเทศ
ความสัมพันธ์ของ 2 อดีตผู้นำที่ก่อขึ้นมาอย่างยาวนาน ยังถูกมัดรวมให้แน่นขึ้นด้วยการแต่งงานของคนใกล้ชิดจากทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือ "ชยาภา วงศ์สวัสดิ์" ลูกสาวคนเล็กของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่วิวาห์ข้ามชาติกับ "นัม ลีนัล" ลูกชายของ วันลี และ เซียง นัม นักการเมืองระดับแถวหน้าคนสนิทของสมเด็จฮุน เซน ในปี 2013
งานวิวาห์ช้างครั้งนั้นได้ นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานในพิธีที่จัดในเมืองไทย และ อดีตนายกฯ ทักษิณ พร้อมกับ นายกฯ ฮุน เซน ร่วมกันเป็นประธานในพิธีที่จัดขึ้นที่กัมพูชา แต่ที่น่าสนใจคือ งานชื่นมื่นนี้จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในการสู้ศึกคดีปราสาทพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ดูแล้วยากจะหลีกหนีคำครหาเรื่องผลของประโยชน์ประเทศชาติที่อาจทับซ้อนกับประโยชน์ส่วนตน
3 ปีต่อมาหลังจากที่รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารปี 2006 สมเด็จฮุน เซน ได้เปิดบ้านเป็นที่พำนักชั่วคราวให้กับนายทักษิณ และยังได้แต่งตั้งให้นายทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจกัมพูชา ขณะที่ทางการไทยโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ได้ทำเรื่องขอให้ สมเด็จฮุน เซน ส่งตัวนายทักษิณกลับมารับโทษ แต่ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ทำให้ สมเด็จฮุน เซน เลือกที่จะปฏิเสธไม่ยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยให้เหตุผลว่า "เป็นเรื่องภายในของประเทศไทย และไม่ขอเข้าไปยุ่ง"
ในอาเซียนเรามีกัน 3 คนพี่น้อง พี่ใหญ่คือสุลต่านบรูไน คนที่ 2 คือผม คนที่ 3 คือสมเด็จฮุน เซน
เวลาที่ผมถูกรังแก บรูไนและกัมพูชาจะอนุญาตให้ผมพบกับพี่น้องเสมอ
คำสัมภาษณ์ของนายทักษิณต่อสื่อกัมพูชา The Phnom Penh Post ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของอดีตผู้นำประเทศ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความผูกพันของพวกเขาได้ฝ่าฟันความวุ่นวายทางการเมือง รวมถึงการรัฐประหาร การลี้ภัย และ การเลือกตั้งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แม้ว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองในกัมพูชาและไทยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่มิตรภาพของพวกเขายังอยู่ดังเดิม
ที่มา : BBC, The Phnom Penh Post
อ่าน : ย้อนสัมพันธ์ "ทักษิณ-ฮุนเซน" แขกคนแรกบ้านจันทร์ส่องหล้า