จากกรณีชาวบ้านพบ “เสือโคร่ง” ออกนอกป่าคลองลาน เดินป้วนเปี้ยนบนถนน และคาบหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงในเล้าหลังบ้านไปกิน เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังเตรียมจับคืนสู่ป่าอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2567 นายสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 60 นาย ยังคงควบคุมสถานการณ์พื้นที่โดยรอบ และประชาสัมพันธ์ไม่ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกและใกล้เคียง อย่าทำร้ายเสือโคร่ง และไม่ให้เข้าใกล้พื้นที่รัศมี 5 ตารางกิโลเมตร เกรงว่าจะได้รับอันตราย
อ่านข่าว : ติดกล้องดัก "เสือโคร่ง" ห่วงย้อนกินเหยื่อ-รอยตีนมุ่งป่าคลองลาน
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกำลัง 4 ทิศเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมเสือโคร่งตลอดเวลาทั้งคืน วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยติดตั้งกล้อง NCAPs จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และกล้อง Camera Trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) ตามต้นไม้หลายๆ ต้น เพื่อคอยดูความเคลื่อนไหวของเสือโคร่งที่จะย่องเข้ามาดูเหยื่อ พร้อมวางแผนขั้นต่อไปทันทีที่เห็นภาพจากกล้องที่ติดตั้งไว้
ทั้งนี้จากการประเมินอาการของเสือโคร่ง พบเป็นเสือโคร่งเพศผู้ วัยรุ่น สูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.50 เมตร อายุประมาณ 2 ปี ร่างกายผอม เดินเหมือนไม่มีแรง มีอาการเหมือนหิวอาจอดอาหารมาหลายวัน และมีอาการหวาดระแวงวิ่งบ้างเดินบ้างตลอดจากนั้นก็หลบหมอบในพุ่มไม้ป่ารกเงียบๆ
ขณะที่ สัตวแพทย์หญิง พิมพ์ชนก สรงมงคล ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สบอ.12 (นครสวรรค์) ทีมเจ้าหน้าที่ WWF กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เป็นองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และ น.ส.อังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
อ่านข่าว : เร่งจับ "เสือโคร่ง" โผล่ชิลกลางหมู่บ้าน-ไม่ปิดเที่ยวคลองลาน
ปรึกษาวางแผนด้วยวิธียิงยาสลบ พร้อมกรงที่เตรียมไว้ เพื่อเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ทันที นำไปฟื้นฟูที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เนื่องจากเสือโคร่งหลบซ่อนตัวในพื้นที่ป่ารก ทำให้เป็นอุปสรรคในการยิงยาสลบ
อย่างไรก็ตามก็จะดำเนินการนำเสือออกจากพื้นที่ให้โดยเร็ว โดยมีการจัดกำลังเจ้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มาเสริมเพิ่มอีก คาดว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด จะได้ตัวในวันที่ 19 ก.พ.นี้
นักวิจัยระบุว่า สาเหตุที่เสือเดินทางมาบริเวณดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านบริเวณนี้อยู่ห่างจากพื้นที่ป่าเพียง 500 เมตร และเกือบทุกบ้านจะเลี้ยงหมู อย่างไรก็ตามเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน เนื่องจากบริเวณดังกล่าว ไม่พบเสือโคร่งมากว่าสิบปีแล้ว
อ่านข่าว : "เสือโคร่ง" ในป่าไทยเพิ่มเป็น 148-189 ตัว เร่งฟื้นฟูเหยื่อ-ถิ่นอาศัย