ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทักษิณ" พักโทษ ไม่ต้องใส่ "กำไล EM" มิติใหม่การติดคุกนอกเรือนจำ

สังคม
16 ก.พ. 67
17:16
2,851
Logo Thai PBS
"ทักษิณ" พักโทษ ไม่ต้องใส่ "กำไล EM" มิติใหม่การติดคุกนอกเรือนจำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กำไลอีเอ็ม (EM) เป็นมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ได้รับการพักการลงโทษนั้น ต้องผ่านโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัย จนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยพักการลงโทษ ก่อนถูกปล่อยตัว

การควบคุมผู้กระทำความผิดโดยใช้เครื่องมือระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ กำไลอีเอ็ม เป็นมาตรการหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดแทนการใช้เรือนจำ ซึ่งได้ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960-1970 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นสำคัญ 

"ทักษิณ" พักโทษ ไร้กำไล EM

จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปัจจุบันอายุ 74 ปี ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และขณะนี้เข้าเกณฑ์พักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังอาวุโสและเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 18 ก.พ.67 โดยไม่ต้องใส่กำไล EM และจะเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะพ้นโทษ ในช่วงเดือน ส.ค.67

กำไลอีเอ็ม อิสรภาพกับพันธนาการที่ข้อเท้า

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2561 เพื่อการติดตามตัวหรือจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหา หรือ จำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 

เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของไทยได้มีการนำ กำไลอีเอ็ม มาใช้ใน ขั้นตอนของการปล่อยตัวชั่วคราว แล้ว โดยศาลเป็นผู้มีอำนาจในการปล่อยตัวชั่วคราว จะใช้ดุลพินิจ เพื่อใช้เป็นมาตรการในการยับยั้งการหลบหนีของจำเลย ปัจจุบันศาลได้สั่งใช้ กำไลอีเอ็ม กับจำเลยควบคู่กับการคุมความประพฤติซึ่งโดยปกติใช้ในฐานความผิดต่างๆ กัน เช่น คดีเสพยาเสพติดฯ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ คดีลักทรัพย์ ขับรถประมาท เป็นต้น 

ส่วนเงื่อนไขและระยะเวลาในการใช้เครื่องมือก็แตกต่างกัน ทั้งการห้ามออกนอกที่พักอาศัยตามกำหนดระยะเวลา การห้ามเข้าเขตพื้นที่กำหนด การจำกัดความเร็วในคดีขับรถประมาท ฯลฯ ซึ่งมีความหลากหลายกันในแต่ละศาล

สิ่งที่ควรรู้เมื่อใช้กำไลอีเอ็ม

  1. การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้กำไลอีเอ็มที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
  2. ถ้าปรากฏว่ากำไลอีเอ็มถูกทำลายหรือทำให้ใช้การไม่ได้ ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีหรือจะหลบหนี
  3. ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม ศาลจะสั่งให้ใช้กำไลอีเอ็มได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง
  4. ห้ามกำไลอีเอ็มเหลือแบตเตอรี่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยให้สังเกตจากไฟแสดงสถานะบนตัวเครื่อง

กรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล

หากพบว่าสายรัดกำไลอีเอ็มถูกทำลาย ขาดการติดต่อเนื่องจากไม่ได้ชาร์จแบตเตอรี่ ขาดการติดต่อเนื่องจากอยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ หรือเข้าออกนอกพื้นที่กำหนดตามคำสั่งศาล ศูนย์ควบคุมติดตามการปล่อยตัวชั่วคราวฯ จะรายงานพฤติการณ์ให้ศาล เพื่อพิจารณาดำเนินการ และศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควร เช่น อาจสั่งงดการบังคับตามสัญญาประกันหรือลดจำนวนเงิน โดยคำนึงถึงความพยายามของผู้ประกันในการติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

ประโยชน์การใช้กำไลอีเอ็ม

  1. ช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
  2. ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่สามารถหาหลักประกัน ได้มีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
  4. ช่วยลดปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำ ก่อนหรือหลังระหว่างการพิจารณาคดี
  5. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

กำไลอีเอ็มกับผู้ป่วย

กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีเหตุต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลและกำไลอีเอ็มอาจรบกวนหรือส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของแพทย์

  • กรณีรู้วันนัดล่วงหน้า ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปลดกำไลอีเอ็ม
  • ในกรณีฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ แพทย์สามารถตัดกำไลอีเอ็มได้ทันที และให้ญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยแจ้งต่อศาล และให้นำกำไลอีเอ็มคืนศาล

กำไลอีเอ็มกับการเดินทางโดยเครื่องบิน

โดยปกติแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวที่มีการใช้กำไลอีเอ็ม จะไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ เนื่องจากกำไลอีเอ็มเป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น วิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการบินได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ต้องหาหรือจำเลยมีเหตุจำเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ยื่นคำร้องต่อศาล
  2. กรณีที่ศาลอนุญาตให้ปลดกำไลอีเอ็มแบบถาวร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะประสานกับศูนย์ EM เพื่อปลดกำไลอีเอ็มออกให้
  3. กรณีศาลมีคำสั่งปลดกำไลอีเอ็มแบบมีกำหนดระยะเวลา ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประสานกับศูนย์ EM เพื่อปลดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดวันนัดตามคำสั่งศาล ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับมาติดกำไลอีเอ็มที่ศาลตามเดิม
  4. กรณีศาลมีคำสั่งปิดสัญญาณชั่วคราว ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประสานกับศูนย์ EM เพื่อปิดสัญญาณกำไลอีเอ็มก่อนขึ้นเครื่องบิน รวมถึงแจ้งระยะเวลาในการเดินทางเมื่อถึงสนามบิน
    ปลายทางแล้วให้เจ้าหน้าที่แจ้งศูนย์ EM เพื่อทำการเปิดสัญญาณกำไลอีเอ็มให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลย

เงื่อนไขการถอดกำไลอีเอ็ม

การถอดอุปกรณ์กำไลอีเอ็มตามที่กำหนดในกฎกระทรวงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจสั่ง พ.ศ.2560 ข้อ 4 มี 3 กรณี คือ

  1. ครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ
  2. ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ สั่งเพิกถอนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติ เช่น คณะอนุกรรมการฯ มีคำสั่งเพิกถอนการใช้กำไลอีเอ็ม
  3. เหตุอื่นใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร เช่น ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน เงื่อนไขการคุมความประพฤติเงื่อนไขการใช้งานกำไลอีเอ็มย่อมสิ้นสุดไปด้วย

ส่วนการถอดกำไลอีเอ็มตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ข้อ 5 (เหตุฉุกเฉิน) มี 2 กรณี คือ

  1. ผู้ถูกคุมความประพฤติเจ็บป่วยรุนแรง
  2. ผู้ถูกคุมความประพฤติประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหรือได้รับอันตรายสาหัส 

ทั้งนี้การถอดกำไลอีเอ็มตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 และข้อ 5 (เหตุฉุกเฉิน) มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ การถอดอุกำไลอีเอ็มตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 จะต้องครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติหรือมีคำสั่งจากศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจก่อน

ส่วนการถอดกำไลอีเอ็มตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 5 เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ไม่อาจรอให้ครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติหรือมีคำสั่งจากศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว และพนักงานคุมประพฤติต้องดำเนินการโดยมิชักช้า และรายงานผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติทราบทันทีเพื่อรายงานศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเพื่อมีคำสั่งต่อไปโดยเร็ว

“ทักษิณ” หลังได้พักโทษไม่ต้องใส่กำไล EM

สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ เนื่องจากสูงอายุ มีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วย คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ อาจมีมติหรือความเห็นจะไม่ติดกำไล EM เพราะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอัตราความเสี่ยงน้อยที่จะไปก่อเหตุกระทำผิดซ้ำได้

อ่านข่าวเพิ่ม :

"จันทร์ส่องหล้า" บ้านตระกูลชิน-รับแขกสำคัญ สู่ที่พักโทษ "ทักษิณ"

"อุ๊งอิ๊ง" ยังไม่รู้ "ทักษิณ" ออกวันไหน 18 หรือ 22 ก.พ.รอหมอสรุป

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม, สำนักส่งเสริมงานตุลาการศาลยุติธรรม, กองอำนวยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง