วันนี้ (13 ก.พ.2567) หญ้าคาทะเลใน จ.ตรัง ที่พบเสื่อมโทรมมาตั้งแต่ปี 2562 และลุกลามต่อเนื่อง ตอนนี้ยังหาสาเหตุไม่ได้ โดยการตายของหญ้ามีเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น หญ้าคาทะเล หญ้าใบมะกรูด ที่เป็นอาหารของพะยูน จากการสำรวจพบว่า มี 2 เกาะ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ รอบเกาะลิบง และ บริเวณเกาะมุกต์ กินพื้นที่กว่า 10,000 ไร่
หญ้าทะเลที่เกาะลิบง
บางแปลงที่ปลูกไว้ เพื่อขยายแหล่งอาหารของพะยูน เช่น อ่าวบุญคง ใกล้กลับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง หญ้าคาทะเลหายไปทั้งแถบ ซึ่งวันที่ 14 ก.พ.2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและดูสภาพจริงกับวิกฤติที่เกิดขึ้น
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ตอนนี้กลุ่มอาจารย์และนักวิจัยในคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังเพาะเชื้อ ซึ่งเพิ่งผ่านขั้นตอนแรก ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า วิกฤติหญ้าทะเลที่หายไปจากทะเลตรังและกระบี่บางส่วน เกิดจากการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย ยอมรับว่า "น่าห่วง" เพราะยังหาวิธีป้องกันไม่ได้หากยังวินิจฉัยโรคไม่ชัดเจน ก็ให้ยาไม่ถูกโรค
หญ้าทะเลที่เกาะลิบง
อนาคตอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการหากินของพะยูน ที่จะอพยพย้ายถิ่นอาศัย หรือวงจรชีวิตเมื่อแหล่งอาหารลดลง ธรรมชาติจะส่งสัญญาณให้พะยูนลดอัตราการเกิด ที่ปัจจุบันในทะเลตรัง นับได้ 188 ตัว ผลกระทบของจากความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล ยังเกิดขึ้นกับอาชีพประมงชายฝั่ง เพราะหญ้าทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ แหล่งยังเป็นแหล่งอาศัยของหอยชักตีน สัตว์ทะเลราคาสูงสร้างรายได้ให้ชาวบ้านทั้งเกาะลิบงและเกาะมุกต์
ภาพประกอบข่าว : พะยูนกินหญ้าทะเล
จากข้อมูลเบื้องต้นที่คาดว่า เกิดจากการทับถมของตะกอน ที่มาจากโครงการขุดร่องน้ำ แต่โครงการดังกล่าวหยุดดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2565 หญ้าคาทะเล ยังคงทยอยตายต่อเนื่องและลุกลามไปไกลจากจุดที่ทำโครงการหลายสิบกิโลเมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ก.พ. จะมีการระดมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ มาร่วมหาทางออก และจะลงพื้นที่บริเวณเกาะมุก จ.ตรัง เช่น ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ดร.นันทริกา ซันซื่อ อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง เป็นต้น โดยจะมีการทบทวนข้อมูลสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมใน จ.ตรัง รวมทั้งหาคำตอบที่เป็นสาเหตุการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล จะมีการลงพื้นที่สำรวจปัญหาบริเวณเกาะลิบง เกาะมุกต์ จ.ตรัง คาดว่าจะมีการตั้งทีมวิจัยเป็นครั้งแรก
อ่านข่าวอื่น :
ผบ.ตร.สั่งตั้งจุดตรวจ-คุมจุดล่อแหลม ป้องกันภัยช่วงวาเลนไทน์
เขาเขียว ผุด "กางเกงกะปิปลาร้า" ต้นแบบแก๊งหน้านิ่ง "คาปิบารา"