ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เมียนมา" บังคับเกณฑ์ทหาร ปิดจุดอ่อนกองทัพ

ต่างประเทศ
12 ก.พ. 67
13:13
864
Logo Thai PBS
"เมียนมา" บังคับเกณฑ์ทหาร ปิดจุดอ่อนกองทัพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐบาลทหารเมียนมายอมหันหน้าเข้าหาอาเซียนมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่าจะเกิดการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้งในเมียนมา แต่ล่าสุดมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ซึ่งการขาดแคลนกำลังพลถือเป็นปัญหาใหญ่ของกองทัพเมียนมา

รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้ "กฎหมายรับราชการทหารของประชาชน" ที่ออกมาเมื่อปี 2010 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ระเบียบเกณฑ์ทหารดังกล่าวครอบคลุมพลเมืองเมียนมาทุกคน โดยชายที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี และหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18-27 ปี ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และสามารถขยายระยะเวลาประจำการได้สูงสุดถึง 5 ปี ภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน

หากใครฝ่าฝืนคำสั่งอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมเมียนมาเตรียมประกาศรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ที่ถูกเรียกตัวจะต้องไปทำหน้าที่อะไรบ้าง โดยโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ชี้ว่า การเรียกทุกคนเข้าเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศและพลเมืองทุกคนมีหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ

ข้อมูลจากนักวิจัยของสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ ประเมินว่า ในช่วงก่อนรัฐประหาร คาดว่ากองทัพเมียนมามีกำลังพลสูงสุด 400,000 นาย แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขจริงอาจต่ำกว่านี้ถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม ขณะที่ปัจจุบันตัวเลขของทหารอาจอยู่ที่ราวๆ 150,000 นาย แต่ในจำนวนนี้เป็นทหารที่มีขีดความสามารถในการรบแนวหน้าเพียง 70,000 นายเท่านั้น

ส่วนตัวเลขการสูญเสียกำลังพล แม้ว่ากองทัพจะไม่ได้เปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่มีการประเมินเมื่อช่วงกลางปี 2023 ว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นอาจทำให้มีทหารเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 13,000 นาย ขณะที่มีทหารแปรพักตร์และหนีทัพอีกไม่ต่ำกว่า 8,000 นายในช่วง 2 ปีแรกหลังรัฐประหาร แต่การยกระดับการสู้รบทั่วประเทศหลังปฏิบัติการ 1027 เมื่อปี 2023 ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่น่าจะทำให้ตัวเลขการสูญเสียกำลังพลของกองทัพเพิ่มมากขึ้น

ทหารเมียนมาเดินสวนสนามในกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2024

ทหารเมียนมาเดินสวนสนามในกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2024

ทหารเมียนมาเดินสวนสนามในกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2024

การขาดแคลนกำลังพลในกองทัพเมียนมาไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร แต่ปัญหานี้เลวร้ายลงจากหลายปัจจัยนับตั้งแต่รัฐประหาร อย่างแรกคือการที่มีคนไปสมัครเป็นทหารน้อยลง ส่วนการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ทำให้มีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางส่วนรู้สึกหวาดกลัวและขาดกำลังใจจนตัดสินใจหนีทัพ หรือแปรพักตร์

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ ระบุว่า มีทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเมียนมา 340 นาย หนีการสู้รบเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสถานการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับรอยต่อบริเวณพรมแดนเมียนมากับอินเดียด้วย ทำให้ทางการอินเดียเตรียมยกเลิกข้อตกลงข้ามแดนเสรีและสร้างรั้วกั้นพรมแดน

ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมียนมา ระบุว่า มีทหารยอมวางอาวุธในระหว่างการสู้รบทางตอนเหนือ 4,000 นาย และเมื่อเดือน ก.ย.2023 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ระบุว่ามีทหารเมียนมาแปรพักตร์มากกว่า 14,000 นาย

นอกจากทหาร 150,000 นายแล้ว รัฐบาลทหารเมียนมายังมีตำรวจในสังกัดอีก 70,000 นาย แม้ดูเป็นตัวเลขที่มาก แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเป็นกำลังรบได้ ขณะที่ตัวเลขคร่าวๆ ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แบ่งเป็น PDF ซึ่งคาดว่ามีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 65,000 คน และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธอีกหลายกลุ่ม รวมๆ แล้วนักวิเคราะห์ประเมินว่าไม่น่าเกิน 100,000 คน

แม้ตัวเลขกำลังพลของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งมาพร้อมกำลังใจในการสู้รบเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของประเทศ ประกอบกับยุทธวิธีในการรบแบบกองโจรและการประสานงานในพื้นที่ จะถือเป็นข้อได้เปรียบใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแต้มต่อนี้จะมากพอในการจัดการกับกองทัพได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กองทัพยังเป็นฝ่ายถือครองอาวุธหนักอยู่ในมือ

ขณะที่สมาชิก PDF ติดอาวุธเพียงแค่ร้อยละ 60 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นเองและมีคุณภาพต่ำ หรือไม่ก็เป็นอาวุธขนาดเล็กที่อาจซื้อมาจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นๆ

หลังจากนี้ต้องจับตาว่าการบังคับเกณฑ์ทหารเพื่ออุดช่องว่าง หรือปิดจุดอ่อนตัวเลขกำลังพลของกองทัพเมียนมา จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะผลักให้ชาวเมียนมาต้องเลือกข้างและหันไปอยู่กับฝ่ายต่อต้านมากขึ้น ซึ่งการเดินเกมเช่นนี้เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ชี้ว่ากองทัพกำลังมีปัญหาให้ต้องเร่งแก้ไข

อ่านข่าวอื่นๆ

นาโตจวก "ทรัมป์" ยุรัสเซียถล่มชาตินาโตไม่ทุ่มงบฯ กลาโหม

"ชวากลาง" สนามเลือกตั้งสำคัญของอินโดนีเซีย

เปิดโผผู้ท้าชิงตำแหน่ง "ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย" ในศึกเลือกตั้ง 14 ก.พ.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง