ผู้สื่อข่าวสำรวจร้านจำหน่ายพระเครื่องภายในศูนย์พระเครื่อง ย่านถนนงามวงศ์วาน ส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจเป็นคนไทย แต่มีบางร้านขึ้นป้ายเป็นภาษาจีนและมีชาวจีนเป็นเจ้าของเกือบ 10 ร้าน สะท้อนให้เห็นว่าพระเครื่องและเครื่องรางวัตถุมงคลกำลังได้รับความนิยมจากชาวจีนเพิ่มขึ้น
เจ้าของธุรกิจชาวจีนคนหนึ่ง กล่าวว่า เริ่มต้นจากการเป็นนักท่องเที่ยวและมีโอกาสไปเที่ยวตามวัดต่างๆ ในประเทศไทย มีความศรัทธาและสนใจพระเครื่อง เครื่องรางวัตถุมงคลของไทย จึงเริ่มศึกษาและหาเช่าสะสม ก่อนเปิดเป็นธุรกิจ ซึ่งลูกค้าหลักจะเป็นลูกค้าชาวจีนที่ชื่นชอบวัตถุมงคล
ส่วนเจ้าของธุรกิจจำหน่ายพระเครื่องชาวจีนอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ลูกค้าหลักจะเป็นชาวจีนที่เป็นกลุ่มพ่อค้าที่ซื้อกลับไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งพระเครื่องไทยและเครื่องรางวัตถุมงคล มีชาวจีนนิยมเพิ่มขึ้น โดยมีทั้งไปตั้งตู้จำหน่ายและขายในโซเชียลมีเดียจีน ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ขณะที่เจ้าของธุรกิจคนไทย ระบุว่า ไม่กังวลที่ชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจพระเครื่อง เพราะจะช่วยขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น ที่สำคัญชาวจีนมีกำลังซื้อสูง
ด้านนายวิศาล เตชะวิภาค รองนายกสมาคมผู้นิยม พระเครื่อง พระบูชาไทย ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาการเช่าพระเกิดจากความศรัทธา แต่ระยะหลังมุ่งสู่ธุรกิจมากขึ้น เพราะถูกมองว่ามีกำไรสูง แต่คนที่เข้ามาทำธุรกิจนี้จะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้ง และยอมรับว่าธุรกิจเช่าพระเวลานี้ไม่ได้อยู่แค่คนในประเทศเท่านั้น แต่ชาวต่างชาติก็สนใจเช่นเดียวกัน
ชั่วโมงนี้มีคนต่างชาติเล่นพระที่ถูกต้องเหมือนคนไทยเล่นพระในสมัยก่อน จำนวนมากและแทบจะเป็นชาติในเอเชียทั้งหมด ทั้งจีน สิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซียก็เข้ามาหาเช่าพระ
วิศาล เตชะวิภาค รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
ปัจจุบัน ตลาดพระเครื่องมีการเติบโตต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง สะท้อนจากตลาดพระเครื่องที่เปิดมากขึ้น เช่น ย่านรังสิต ขณะที่จำนวนผู้ที่เข้ามาอยู่ในธุรกิจเช่าพระมีมากขึ้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์
อ่านข่าวอื่นๆ
เอกชนชงเก็บภาษี VAT สินค้าออนไลน์ สกัดจีนทะลัก
ถก FTA อาเซียน-จีนคืบ กรุยทางสินค้าไทยรุกตลาดจีนเพิ่ม
ปักหมุด ตลาดเอเชียกลาง อคส. เปิดหน้าต่างการค้าไม่ผ่านหน้าเสื่อ