เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี แจ้งข่าวดีหลังจาก "ป๊อก" พญาแร้งตัวผู้จากสวนสัตว์โคราช และ "มิ่ง" พญาแร้งตัวเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วางไข่ใบแรก โดยแร้งทั้ง 2 ตัวเริ่มมีพฤติกรรมขึ้นผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 จนในที่สุดมิ่งวางไข่ใบแรกที่เกิดในป่าห้วยขาแข้งได้สำเร็จ
อ่านข่าว : สุดดีใจ! "มิ่ง พญาแร้ง" ออกไข่ใบแรกกลางป่าห้วยขาแข้ง
ล่าสุด ภาพจากกล้องวงจรปิดจับภาพขณะลูกน้อยได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม หลังสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติกว่า 30 ปี นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย
ทั้งนี้ พญาแร้งเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของผืนป่าไทยกว่า 3 ทศวรรษ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีโครงการฟื้นฟูพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิม สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ชื่อ "ป๊อก" และ "มิ่ง" หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 - 30 ก.ย.2568
อ่านข่าว : สำเร็จ! “พญาแร้ง" คู่แรก กลับบ้าน "ห้วยขาแข้ง" ในรอบ 30 ปี
ก่อนหน้านี้ พญาแร้ง "ป๊อก-มิ่ง" ผ่านเกณฑ์การจับคู่ในช่วงเจริญพันธุ์ หลังจากนำทั้ง 2 ตัวมาจับคู่เทียบกันและไม่พบว่ามีการตีกัน จากนั้นวันที่ 14 ก.พ.2565 ทีมนักวิจัยได้เคลื่อนย้ายพญาแร้ง "ป๊อก-มิ่ง" จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี นำไปอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่าเป็นเวลานานกว่า 1 ปีและสามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมในป่าห้วยขาแข้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง