วันนี้ (6 ก.พ.2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 จำนวน 9 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 9 ติดตามและประเสิมผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)
สำหรับการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ 1.การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์, 2.การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์, 3.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค, 4.การเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และ 5.การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการและโครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 พร้อมรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง
อ่านข่าวอื่นๆ
"อรรถพล" สั่งหัวหน้าป่าอนุรักษ์ ปิด 37 พื้นที่เสี่ยงไฟป่า
"จุลพันธ์" ยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตคู่ขนานรอความเห็น ป.ป.ช.