หน้าชื่นได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลังรอดคดีหุ้นไอทีวี "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ต้องอกไหม้ไส้ขม ตกที่นั่งลำบากเพราะต้องเผชิญความเสี่ยงสูงกับการถูกร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลที่จะตามมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มติเอกฉันท์ 9:0 ของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า นโยบายหาเสียงแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ของนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เข้าข่ายกระทำล้มล้างการปกครอง โดยมีคำสั่งให้เลิกการกระทำ พร้อมกับห้ามใช้เป็นนโยบายหาเสียง และไม่ให้ใช้กระบวนการมิชอบ ...มีผลกระทบโดยตรงต่ออนาคตของพรรคก้าวไกล
"การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธา-พรรคก้าวไกล) เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อีกทั้งไม่ให้มี การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้น ต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74"
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของมาตรา 112 โดยตรง แต่ครอบคลุมถึงเรื่องการกระทำที่เกี่ยวข้องที่นำเสนอ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่เรียกร้อง ที่นำไปสู่การแก้ไขมาตรา 112
อ่านข่าว : ศาลรัฐธรรมนูญชี้ "ก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
แม้เมื่อวาน (31 ม.ค.) "ต๋อม" ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะแถลงต่อทันควันว่า ไม่ได้มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แต่คำวินิจฉัยศาล อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเข้าใจและความหมายตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังการสำคัญของระบบการเมือง ไม่มีความชัดเจนแน่นอน อีกทั้งมีความคลุมเครือ ทั้งในแง่การตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและข้อเจตนาว่า อย่างไรคือการล้มล้างการปกครอง
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
ยังไม่ทันสิ้นเสียง วันรุ่งขึ้น "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็มาตามนัด เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยุบพรรคก้าวไกล
โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนว่า การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงถือว่าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เรื่องการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึงพรรคเพื่อไทยมีนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น "เรืองไกร" ตอบนิ่งๆ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล
ไม่ต้องห่วง หากมีน้ำหนักพอก็จะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งนึ้ รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ที่เคยหาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112
อ่านข่าว : "เรืองไกร" ยื่น กกต.ยุบ "ก้าวไกล" หลังศร.ชี้ใช้แก้ ม. 112 หาเสียงเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ
ส่งไม้ต่อมาที่ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ทนายความอิสระ ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ตาม มาตรา 49 ตั้งแต่ต้นได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (1) เพื่อให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยยื่นคำร้องจำนวน 11 แผ่น พร้อมแนบคำวินิจฉัยศาลฯ จากการถอดเทป 11 แผ่น และเอกสารประกอบคำร้องอีก 110 แผ่น
หากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ธีรยุทธ ย้ำชัดไม่กังวลใจ
คำวินิจฉัยของศาลเมื่อวานนี้เป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย สมาชิกพรรค รวมถึงผู้สนับสนุนพรรค ก็มีหน้าที่ในการดำเนินการ จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานนี้ และเชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏในหลักการของพรรคก้าวไกล ดังนั้นหากมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล
และในวันพรุ่งนี้ (2 ก.พ.) ได้เตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย 112 ไว้แล้ว
เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่าไม่ต่างจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ "เอ๋" ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน ในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
เช่นเดียวกับ "สนธิญา สวัสดี" อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ก็จะเดินทางยื่นเรื่องเพื่อร้องสอบจริยธรรม สส.44 คนเช่นกัน
กรณีนี้เคยยื่นคัดค้านการจดทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2561 ขณะนั้นนายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้มีแนวคิดที่จะแก้มาตรา 112 หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับจดทะเบียนพรรคการเมือง จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อสถาบัน
คัดค้านมาตรา 112 จึงมาถึงพรรคก้าวไกล แล้วถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองที่มีส่วนร่วมเหล่านี้ทั้งหมด ต้องยุติการทำงานการเมืองไปตลอดชีวิต
อ่านข่าว : "สนธิญา" เช็กบิลยื่นฟ้อง 44 สส.ก้าวไกลปม ม.112
สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา
แรงไม่แผ่ว เมื่อ สว.สมชาย แสวงการ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ว่าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป อันเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาล มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร ดังนั้นผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีความทางกฎหมายต่อไปทันที
ทั้ง 2 ช่องทาง คือทั้งการยื่นต่อ กกต. เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคต่อไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรามาตรา 92 หรือ นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นความปรากฏเองแล้ว เสนอต่อ กกต.เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ทันที
หรือ การยื่นต่อ ป.ป.ช. ว่า 44 สส.ที่ลงชื่อเสนอแก้ มาตรา 112 เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมนักการเมืองร้ายแรงหรือไม่
ปลายทางพรรคก้าวไกลจะซ้ำรอยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ คืองานยากสำหรับพิธาและพรรคก้าวไกลที่จะวางแนวทางการต่อสู้ต่อจากนี้ไป
แต่ในทางการเมืองความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลในวันนี้ "ก้าวไกล" จับมือ "เพื่อไทย" ยื่นหนังสือต่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หวังแก้ปมเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพิ่มความยืดหยุ่น กกต. จัดประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้
"แม้ว่าทั้งสองพรรคอาจจะอยู่กันคนละฝั่งในระบบรัฐสภา แต่ก็พร้อมร่วมมือกันในประเด็นที่เห็นด้วยส่วนประเด็นที่เห็นต่างก็พร้อมแข่งขันกันเต็มที่ เพราะเป็นแนวทางที่ท้ายสุดประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับประชาชน" พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าว
และเย็นวันนี้ พรรคก้าวไกล จะนัดดินเนอร์กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน หารือแนวทางทำงานร่วมกัน เพื่อความเป็นเอกภาพ โดยจะจัดขึ้นที่ร้านอาหารย่านสามเสน ใกล้รัฐสภา
อาจจะเป็นเพียงเรื่องบังเอิญจริงๆ กับการนัดดินเนอร์พรรคร่วมฝ่ายค้าน หลังเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการแก้มาตรา 112 เพียง 1 วันเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อ่านฉบับเต็ม ศาลรัฐธรรมนูญชี้ "ก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
"ก้าวไกล" ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.กระทบการเมือง-สิทธิเสรีภาพ
จับกระแสการเมือง:วันที่ 31 ม.ค.2567 ถอดรหัสคำแถลง "พิธา -ก้าวไกล" ยอมปรองดอง ฤาชักธงรบรอบใหม่
“ก้าวไกล” โดนคดีล้มล้างการปกครอง การเมืองสู่โหมดเข้มข้น-เลือกขั้ว