วันนี้ (1 ก.พ.2567) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เปิดเผยว่า ดร.ณิชา ลีโทชวลิต นักวิจัย NARIT กลุ่มวิจัยจักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี นำทีมนักดาราศาสตร์ภายใต้เครือข่ายวิจัย GLASS collaboration ใช้ข้อมูลจากภาพชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ค้นหากาแล็กซีขนาดเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่เอกภพมีอายุประมาณ 550-700 ล้านปี หรือประมาณ 13,000 ล้านปีก่อน ค้นพบกาแล็กซีที่มีมวลน้อยกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือก 10-100 เท่า จำนวน 13 กาแล็กซี
นับเป็นกาแล็กซีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีมวลน้อยที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในช่วงดังกล่าวของเอกภพ การค้นพบนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์มีข้อมูลกาแล็กซีมวลน้อยในช่วงเวลาดังกล่าวของเอกภพเพิ่มมากขึ้น และมากพอที่จะนำมาใช้วิเคราะห์คุณสมบัติทางสถิติได้ งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters
อ่านข่าว : ภาพแรกสุดชัดจากเจมส์ เว็บบ์ "กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723"
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบบายเพิ่มว่า เมื่อประมาณ 13,000 ล้านปีก่อน ขณะที่เอกภพมีอายุประมาณ 550-700 ล้านปี เป็นช่วงที่สสารระหว่างกาแล็กซีกลับกลายเป็นพลาสมาอีกครั้ง เรียกว่ายุค Epoch of Reionization เพื่อที่จะเข้าใจวิวัฒนาการเอกภพในยุคดังกล่าว นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องศึกษากาแล็กซีในยุค Epoch of Reionization ทั้งมวล อายุ รูปร่าง หรือแม้กระทั่งความเป็นโลหะของกาแล็กซีดังกล่าว โดยเฉพาะกาแล็กซีที่มีมวลน้อย
อย่างไรก็ตามการสังเกตการณ์กาแล็กซีมวลน้อยทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากกาแล็กซีเหล่านั้นอยู่ห่างจากโลกมาก และมีความสว่างน้อยมากทำให้ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์
งานวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ภายใต้โครงการวิจัย GLASS-JWST-ERS program ค้นหากาแล็กซีมวลน้อย ซึ่งภาพถ่ายชุดแรกนั้นใช้อุปกรณ์ NIRCam สังเกตการณ์เป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมง
อ่านข่าว : นาซาเปิดภาพ "ดาวอังคาร" จากเฮลิคอปเตอร์ Ingenuity
ภาพที่ได้จากอุปกรณ์นี้จะทำให้ได้ภาพถ่ายใน 7 ฟิลเตอร์ ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ครอบคลุมความยาวคลื่นระหว่าง 900 – 4,400 นาโนเมตร
ข้อมูลจากภาพถ่ายที่ได้ นำมาสู่การค้นพบกาแล็กซีใหม่ 13 กาแล็กซี ที่มีมวลน้อยกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา 10-100 เท่า
เมื่อนำข้อมูลกาแล็กซีที่ถูกค้นพบใหม่มาคำนวณ พบว่ากาแล็กซีเหล่านี้กำลังมีดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวน 1-10 ดวงต่อปี และอายุเฉลี่ยของดาวฤกษ์ภายในกาแล็กซีเหล่านี้อยู่ระหว่าง 30-200 ล้านปี เป็นไปตามทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ จากข้อมูลอายุของดาวฤกษ์ คณะผู้วิจัยสามารถสร้างสูตรคำนวณอย่างง่าย เพื่อประมาณอัตราการเกิดของดาวฤกษ์ใหม่ รวมถึงมวลของกาแล็กซีได้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ ดร.ณิชา นักวิจัยไทยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยร่วมค้นพบหนึ่งใน "กาแล็กซีที่ไกลที่สุด" ด้วยกล้องเจมส์ เว็บบ์ ร่วมกับทีม GLASS ใช้ข้อมูลจากเจมส์ เว็บบ์ สังเกตแสงอันริบหรี่ จากห้วงอวกาศลึก และค้นพบกาแล็กซีที่มีระยะห่างออกไปถึงกว่า 13,500 ล้านปีแสง นับเป็นกาแล็กซีที่ไกลที่สุดกาแล็กซีหนึ่งเท่าที่เคยมีการค้นพบในปัจจุบัน
อ่าน รู้จัก "ณิชา ลีโทชวลิต" นักวิจัยไทยร่วมค้นพบ "กาแล็กซี" ที่ไกลที่สุด
อ่านข่าวอื่น ๆ
เกาะกระแส "ดาราศาสตร์" 10 เรื่องห้ามพลาด ปี 2567