ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครบ 3 ปีรัฐประหาร เมียนมาปรับท่าทีส่งตัวแทนร่วมประชุมอาเซียน

ต่างประเทศ
30 ม.ค. 67
16:48
574
Logo Thai PBS
ครบ 3 ปีรัฐประหาร เมียนมาปรับท่าทีส่งตัวแทนร่วมประชุมอาเซียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิกฤตเมียนมาเป็นประเด็นหารือหลักในวงประชุมอาเซียนทุกๆ รอบเช่นเดียวกับปีนี้ที่ "ลาว" เป็นเจ้าภาพ รอบนี้พิเศษตรงที่รัฐบาลทหารมียนมาส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมด้วยถือเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอาจกำลังเข้าตาจน

อาจไม่ผิดนัก ถ้าจะพูดว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมากำลังตกที่นั่งลำบาก หลังจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ จับมือเปิดปฏิบัติการโจมตีและยึดพื้นที่ควบคุมของกองทัพ โดยเฉพาะในจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ

จุดนี้ซ้ำเติมสถานการณ์รุนแรงจากการโจมตีของกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร อย่างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมา ยอมส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้

เมียนมาปรับท่าทีส่งตัวแทนร่วมวงประชุมอาเซียน

มาลา ตาน ไท รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา จับมือกับ สะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศลาว ก่อนเข้าร่วมการประชุมที่เมืองหลวงพระบาง โดยวิกฤตเมียนมายังคงเป็นประเด็นหารือหลักในการประชุมรอบนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์ร้อนในทะเลจีน

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศลาวชี้ถึงสัญญาณเชิงบวกจากการที่เมียนมาส่งผู้แทนเข้าร่วมพูดคุยในวงประชุมอาเซียนรอบนี้ แม้จะยอมรับว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน

นี่ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2021 ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียน หลังจากประธานอาเซียน นับตั้งแต่บรูไน เป็นต้นมา หรือแม้กระทั่งกัมพูชา งัดมาตรการกร้าว ไม่เชิญผู้แทนทางการเมืองเข้าร่วมการประชุมระดับสูง แต่จะยอมให้ผู้แทนที่ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมืองเข้าร่วมได้ ซึ่งถูกรัฐบาลทหารปฏิเสธมาโดยตลอด

มาลา ตาน ไท รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา (ชุดเหลือง) ขณะเข้าร่วมประชุมอาเซียน

มาลา ตาน ไท รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา (ชุดเหลือง) ขณะเข้าร่วมประชุมอาเซียน

มาลา ตาน ไท รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา (ชุดเหลือง) ขณะเข้าร่วมประชุมอาเซียน

ขณะที่ความพยายามของอินโดนีเซียในการเข้าพูดคุยกับคู่ขัดแย้งในเมียนมามากกว่า 180 ครั้ง เมื่อปีที่แล้วก็ยังไม่เห็นผล ดังนั้นเมื่อประเมินจากสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำของกองทัพเมียนมาในตอนนี้ อาจพูดได้ว่า รัฐบาลทหารอาจจะอยากหันหน้าเข้าหากลุ่มประเทศที่พอจะเป็นมิตรด้วยได้ ซึ่งถ้าไม่ทำตอนนี้และรอมาเลเซียเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า การพูดคุยอาจจะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

แถลงการณ์ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ ชี้ชัดถึงท่าทีของอาเซียนภายใต้การนำของลาว ซึ่งย้ำถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตเมียนมาและสนับสนุนการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อ หลังจากเมื่อปีที่แล้ว เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากกรณีที่รัฐบาลไทยชุดที่แล้ว เข้าพูดคุยอย่างไม่ทางการกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ชุดรัฐบาลทหาร ทั้งๆ ที่ไทยไม่ได้เป็นประธานอาเซียนและดำเนินการนอกกรอบอาเซียน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ท่าทีของไทยอาจสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารเมียนมาและไม่เหมาะสม

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

ขณะที่การประชุมรอบนี้สะท้อนถึงบทบาทของไทย ซึ่งเตรียมยกระดับการให้ความช่วยเหลือเมียนมาด้านมนุษยธรรมตลอดแนวพรมแดนของ 2 ประเทศ

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารจนถึงเมื่อปลายปีที่แล้ว เมียนมาเผชิญกับเหตุรุนแรงเกือบ 29,000 ครั้ง ในพื้นที่มากกว่า 300 จุดทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเหตุปะทะมากกว่า 17,000 ครั้ง และเหตุวางระเบิดอีกมากกว่า 5,000 ครั้ง

ที่น่าสนใจ คือ การโจมตีทางอากาศ ทั้งการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบและใช้โดรนโจมตี เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการโจมตีทางอากาศทั้งหมด โดยเมื่อเดือนที่แล้วเกิดขึ้นถึง 210 ครั้ง

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อลุนแก้ว กิตติคุน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศลาว เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในกรุงเนปยีดอ เพียงไม่กี่วันหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมา

เป็นที่จับตามองว่า ลาวในฐานะพันธมิตรใกล้ชิดกับจีน จะเข้ามาขับเคลื่อนอาเซียนเพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมาได้มากน้อยแค่ไหน หรือในท้ายที่สุดแล้วก็อาจจะทำอะไรไม่ได้เลย หลังจากทั้งรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและรัฐบาลจีน ออกมาประกาศความสำเร็จของการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่มีจีนเป็นตัวกลางเมื่อช่วงกลางเดือน แต่ผ่านมาแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ ข้อตกลงนั้นก็ยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที

การประท้วงในเมียนมา

การประท้วงในเมียนมา

การประท้วงในเมียนมา

วันพฤหัสบดีนี้จะครบรอบ 3 ปี รัฐประหารในเมียนมาแล้ว คาดว่ารัฐบาลทหารน่าจะต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก และมีการคาดการณ์ด้วยว่า กว่าที่เมียนมาจะจัดการเลือกตั้งได้อาจจะเป็นในปีหน้าเลยหรือแย่กว่านั้นก็อาจจะยือเยื้อไปเรื่อยๆ

อ่านข่าวอื่น :

ครม.ตั้งงบฯ ปี 68 "ก.คมนาคม" วงเงิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

จิตแพทย์ห่วงสภาพจิต "เด็ก" เครียดยาว แนะหยุดบูลลีในโรงเรียน

"อธิบดีกรมการข้าว" ยันวางแผนล่อซื้อ "ศรีสุวรรณ" ไม่เกี่ยวที่ปรึกษา "ธรรมนัส"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง