วันนี้ (30 ม.ค.2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากเหตุการณ์นักเรียนทำร้ายกันเสียชีวิต กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่วางแผนประเมินสุขภาพใจนักเรียน 55 คน และบุคลากรครู 12 คน พบว่า นักเรียน 36 คน และครู 12 คน มีภาวะความเครียดจึงวางแผนเยียวยาจิตใจในระยะยาว
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สาเหตุของความก้าวร้าว มักไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว และต้องแก้ทุกปัจจัยไปพร้อมกัน มีตั้งแต่ปัจจัยส่วนตัวมีปัญหาการจัดการอารมณ์ การจัดการความโกรธ ความใจร้อนหุนหันพลันแล่น หรือเป็นโรคที่ยับยั้งชั่งใจคุมตัวเองยาก
ปัจจัยจากครอบครัวที่มีความก้าวร้าวทางร่างกาย วาจา อารมณ์ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ปัจจัยทางโรงเรียน สังคมที่อยู่รอบตัว การกลั่นแกล้งรังแก อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่นิยมความรุนแรงใช้สารเสพติด ก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน และปัจจัยด้านสื่อออนไลน์ ที่สามารถสร้างอารมณ์การเกิดความรุนแรงได้ง่าย
แนะแก้พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก
นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กนั้น ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด เมื่อสงบแล้ว ควรพูดคุยให้เด็กได้ระบาย โดยเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อาย 3 ขวบให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเช่นฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ รวมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่ คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
การใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กที่ก้าวร้าว ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมดีขึ้น และไม่ควรมีข้อต่อรองในเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เลี่ยงพฤติกรรม ตำหนิ เปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย
"สื่อสาร" เปิดทางเด็กร้องขอความช่วยเหลือ
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หากสงสัยว่าบุตรหลานของตนอาจเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สามารถสังเกตได้จาก ร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย พฤติกรรม
หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เช่น หวาดกลัว มีพฤติกรรมถดถอย ก้าวร้าว ซึมเศร้า มีเวลาใส่ใจรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยมากขึ้น ใช้คำถามง่าย เช่น "วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง" "วันนี้มีความสุขกับอะไรบ้าง" "วันนี้เพื่อนและครูเป็นอย่างไรบ้าง" "วันนี้ไม่ชอบอะไรที่สุด"
และเมื่อสงสัยว่าลูกถูกกระทำความรุนแรง สามารถใช้การสนทนาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น "ถ้ามีใครทำให้ลูกเจ็บหรือเสียใจ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะ รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ให้ลูกสามารถสื่อสาร เล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกบ่นหรือตำหนิ
"บูลลี" ไม่ควรกระทำ-ถูกกระทำ-เห็นแล้วเพิกเฉย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พฤติกรรมการบูลลีในโรงเรียน ถือเป็นพฤติกรรมกลั่นแกล้งทางคำพูดด้วยรุนแรง ส่งผลกระทบทั้งคนโดนบูลลี ขาดความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเอง กลายเป็นซึมเศร้า แต่ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะคนโดนกระทำ ยังรวมไปถึงคนบูลลี เป็นการกระทำที่ไม่ได้ และคนที่ยืนดูคนอื่นถูกบูลลี สะท้อนถึงทัศนคติด้วย ซึ่งผลกระทบทั้ง 3 ส่วนนี้ ต้องได้รับการแก้ไขด้วยการหยุดพฤติกรรมการบูลลี
คนที่โดนบูลลีไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจะเป็นคนเก็บกดซึมเศร้า อาจทำร้ายตัวเอง น้อยมากที่จะไปก่อเหตุทำร้ายคนอื่น หรือทำร้ายคนที่กระทำบูลลี
โฮมรูม "พื้นที่ปลอดภัย" สื่อสารครู-นร. เข้าใจตรงกัน
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า พื้นที่โรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดจากการกระทำรุนแรงทั้งทางกายและวาจา สิ่งที่เกิดขึ้นในเด็กนักเรียนครูสามารถมองเห็นและแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ในชั่วโมงโฮมรูม สื่อสารให้นักเรียนในห้องเข้าใจตรงกันว่า บูลลีคือการกลั่นแกล้งทางวาจา ที่รุนแรงกว่าการกระทำ และสร้างบาดแผลทางใจ เช่นกันด้วย การรีดไถเงิน หรือ การตี การตบหัว ก็เป็นการกลั่นแกล้งทางกาย ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งเช่นกัน
ครูต้องสนใจใส่ใจพฤติกรรมของเด็กในห้องเรียน และเข้าไปแก้ไขทันทีไม่ใช่ปล่อยให้บานปลาย คนที่ยืนดูเพื่อนถูกบูลลีเอง ก็ถือว่าเป็นเพิกเฉย ต้องใช้ทักษะชีวิตเข้าไปสอน เพื่อให้เด็กที่ยืนดูเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งแจ้งครูหรือห้ามเพื่อน
นพ.ยงยุทธกล่าวว่า เหยื่อของพฤติกรรมการบูลลี มักเป็นคนอ่อนแอ ดูแล้วน่าจะไม่สู้คนง่ายแกการโดนกลั่นแกล้ง ทั้งนี้เมื่อพบเห็นขอให้ทุกคนเร่งหยุดการกระทำทันที ส่วนความสัมพันธ์ของคนถูกบูลลีและผู้ถูกกระทำการบูลลี ไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า เด็กจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้อีกหรือเปล่า หรือก่อนหน้านั้นเขามีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีกลุ่มเพื่อนเฉพาะของตัวเอง
อ่านข่าว : จิตแพทย์ เสนอบังคับใช้พ.ร.บ.ความรุนแรงฯ ยุติปัญหาถูกทำร้าย