ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับมิจฉาชีพอ้างโครงการหลวง หลอก ปชช.ลงทุน เสียหาย 269 ล้าน

อาชญากรรม
30 ม.ค. 67
12:30
2,485
Logo Thai PBS
จับมิจฉาชีพอ้างโครงการหลวง หลอก ปชช.ลงทุน เสียหาย 269 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจ ปอศ. จับมิจฉาชีพแอบอ้างโครงการหลวง หลอกประชาชนร่วมลงทุน เสียหายกว่า 269 ล้านบาท พบเปิดบริษัทฟอกเงินบังหน้า

วันนี้ (30 ม.ค.2567) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) แถลงข่าวกรณีจับกุมผู้กระทำผิดแอบอ้างเป็นประธาน 4 โครงการหลวง กว่า 28 โครงการ จากมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชกุลอาภากรฯ หลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนสมัครสมาชิกเพื่อแลกกับผลประโยชน์

ตำรวจยึดของกลางสมุดบัญชีธนาคารจำนวน 59 เล่ม คอมพิวเตอร์กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู เหรียญเฉลิมพระชนพรรษา 100 ชิ้น และทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งโฉนดที่ดินและรถยนต์หรู มูลค่ารวมกว่า 16 ล้านบาท โดยขอศาลจังหวัดปทุมธานี ออกหมายจับผู้กระทำความผิด 6 คน ในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเข้าตรวจค้น 7 เป้าหมาย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์

พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนพบว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 ผู้กระทำความผิดจะชักชวนให้ผู้ที่สนใจเป็นสมาชิก เสียค่าใช้จ่ายแลกเข้า 70,000-100,000 บาท เพื่อรับผลประโยชน์เป็นเงินจำนวน 13 ล้านบาทต่อ 1 โครงการ ภายใน 1 ปี โดยพบว่ามีสมาชิกหลงเชื่อเข้าเป็นสมาชิกกว่า 1,000 คน ในแอปพลิเคชันไลน์ 6 กลุ่ม

นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุยังมีพฤติกรรมหลอกให้สมาชิกเสียเงินค่าปลดล็อกบัญชี แลกรับกับผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ลงทุน 10,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 4,000,000 บาท อีกทั้งยังมีโครงการหนึ่งบัตรประชาชนจะได้ 1,000,000 บาท แต่ประชาชนจะต้องโอนเงินเพื่อสมัครเป็นสมาชิกคนละ 750 บาท ก่อนที่ผู้เสียหายพยายามติดตามทวงถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ควรได้รับ แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงและไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง และได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ เบื้องต้นมีผู้เสียหายรวม 8 คน ที่ร่วมลงทุนเป็นเงินทั้งสิ้น 700,000 บาท

จากการสอบสวนพบว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องหามีลักษณะในการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนายจารุเดช หรือเสกสรร จะเป็นผู้บงการและอยู่เบื้องหลัง โดยสั่งให้นางชยาวรรณ ซึ่งเป็นอดีตพนักงานประกันภัยแห่งหนึ่ง อ้างตนว่าเป็นนายใหญ่ เป็นผู้กำกับดูแลและประสานงานกับมูลนิธิ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อก่อนชักชวนเข้ากลุ่มไลน์ เช่น กลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง, โครงการในดวงใจ โดยพบว่ามีผู้เสียหายในกลุ่มไลน์ 900 คน เป็นเงิน 269 ล้านบาท

ทั้งนี้ นางชยาวรรณ จะใช้บัญชีของตัวเองในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย ก่อนจะโอนไปยังบัญชีของนางไก่แก้ว 1 ใน 6 ผู้กระทำความผิด จากนั้นก็จะโอนเงินไปยังบัญชีของนายจารุเดช ก่อนโอนต่อกระจายไปยังบัญชีบริษัทที่นายจารุเดชเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งมีทั้งบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ ผลิตสื่อมีเดีย บริษัทเพลง และบริษัทผลิตเครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง รวม 4 บริษัท ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน ตำรวจจึงจะต้องดำเนินการขยายผลเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาเพิ่มเติม

ด้านหม่อมราชวงศ์ รุจยารักษ์ อาภากร กรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ยืนยันว่า มูลนิธิเป็นองค์กรสาธารณะในการทำกิจกรรมการกุศล ไม่ได้ดำเนินงานที่มีผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะจัดร่วมกับหน่วยงานรัฐ ที่ผ่านมามักจะมีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกให้ประชาชนหลงเชื่อ โดยยืนยันว่ามูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายเรียกหรือระดมผลประโยชน์จากประชาชนแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง