3 มกราคม 2567 หญิงสาวอายุ 32 ปี คนหนึ่ง ยอมเปิดเผยเรื่องราวของตัวเธอเองต่อ “สายไหมต้องรอด” และออกมาแถลงข่าวยอมรับว่า เธอเคยเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง มาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2566 จากอดีตคนรักที่เคยคบหากัน แต่เก็บเป็นความลับมาตลอด
เหตุผลที่เธอตัดสินใจออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ก็เพราะมีข่าวว่า ผู้ชายคนเดียวกันนี้ ไปทำร้ายผู้หญิงอีกคนหนึ่งจนถึงขั้น “เสียชีวิต”

“ถูกทำร้ายร่างกายตลอด 7-8 เดือนที่คบกัน ถูกทุบตี บีบคอ ใช้โซ่ล่ามขาให้อยู่ในสายตาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ให้หนีไปไหนแม้แต่เวลาเข้าห้องน้ำ จนกระทั่งหนีออกมาได้ครั้งแรก จึงไปแจ้งความกับตำรวจ แต่คดีก็ไม่คืบหน้า ... จนเธอถูกชายคนนี้ตามหาจนเจอและถูกทำร้ายอีก ต้องหนีอีกหลายครั้ง จนในที่สุดต้องไปขออาศัยอยู่กับเพื่อน เพื่อไม่ให้ถูกตามตัวจนเจออีก” หญิงวัย 32 ปี กล่าว
ถัดมาอีก 1 วัน หญิงสาววัย 39 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาเปิดเผยว่า เคยถูกชายคนเดียว กันทำร้ายร่างกายระหว่างคบหากันตั้งแต่ต้นปี 2565 หรือ ประมาณ 1 ปีก่อนที่จะเกิดเรื่องกับผู้หญิงอีกคน
“เขามีพฤติการณ์หึงหวงจนใช้ความรุนแรง ใช้เชือกมัด กักขังเราให้อยู่ในบ้าน จนต้องพยายามปีนกำแพงหลบหนี แต่เขาก็ยังไปทำร้ายแม่และน้องของเรา จนทั้ง 2 คนไปแจ้งความ แต่คดีไม่คืบหน้าเช่นกัน หลังจากที่ต้องทนเป็นเวลานานถึง 8 เดือน เราจึงจัดการปัญหานี้ด้วยตัวเองด้วยการหนีไปอยู่กับแฟนเก่า จึงไม่ถูกติดตามไปทำร้ายอีก” หญิงวัย 39 ปี เล่าเหตุการณ์ ที่เกือบจะถอดแบบกันมากับอีกเหตุการณ์หนึ่ง
จนกระทั่งมีผู้หญิงเคราะห์ร้ายคนที่ 3 ซึ่งถูกทำร้ายจน “เสียชีวิต” จึงทำให้เรื่องกลายเป็นคดีความ เป็นข่าวดัง ... ผู้หญิงอีก 2 คน ที่เคยถูกทำร้าย จึงแสดงตัวออกมา นี่จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกมากที่ซ่อนตัวอยู่ในรูปแบบที่เรียกกันว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” (Domestic Violence)
นี่เป็นเพียงเรื่องราวเศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหาชนิดนี้มีมิติความอ่อนไหวทับซ้อนอยู่อีกหลายชั้น โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย ที่มีคำว่า “ครอบครัวอบอุ่น” เป็นค่านิยมหลักที่ถูกปลูกฝังมานาน จนทำให้ “กระบวนการยุติธรรม” ดูเหมือนจะเป็นกลไกที่ยังไม่ตอบโจทย์นัก เมื่อถูกนำมาใช้กับปัญหานี้
ที่บอกว่า “กระบวนการยุติธรรม” ยังไม่ตอบโจทย์กับปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว” มีหลักฐานที่ยืนยันได้ คือ ตัวเลข

เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว
จากเอกสาร “รายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัวฯ ประจำปี 2564” ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีรายงานชุดตัวเลขที่น่าสนใจอยู่หลายชุดด้วยกัน
ส่วนที่ 1 ตัวเลขจากฝั่ง สาธารณสุขและพัฒนาสังคม
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่พบความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมาจากหลายหน่วยงาน
ในปี 2564 ซึ่งมีทั้งหน่วยงานที่เก็บข้อมูลตามปีปฏิทิน (1 ม.ค. - 31 ธ.ค.64) และหน่วยงานที่เก็บข้อมูลตามปีงบประมาณ (1 ต.ค.63 - 30 ก.ย.64) และมีข้อมูลจากหลายหน่วยที่สะท้อนปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่มีลักษณะเป็น โรงพยาบาล หรือ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์
ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) กระทรวงสาธารณสุข
- รายงานจำนวนเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ซึ่งมาเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธาณสุข 543 แห่ง ตามปีงบประมาณ 2564 มีจำนวนทั้งหมด 16,672 ราย หรือเฉลี่ย 46 รายต่อวัน
- เป็นเพศชาย 1,605 ราย, เพศหญิง 15,056 ราย และเพศทางเลือก 11 ราย
- ในจำนวนนี้ มีถึง 5,377 ราย มีอายุระหว่าง 10-20 ปี / อีก 3,252 ราย มีอายุ 20-30 ปี และมี 1,362 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
- ประเภทของการถูกกระทำรุนแรงมากที่สุด คือ ถูกทำร้ายร่างกาย 60% ,ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ 29% และถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจ 6.5%
- หากแยกเป็นประเภทของความสัมพันธ์กับผู้กระทำรุนแรง อันดับที่ 1 คือ คู่สามี-ภรรยา หรือคู่เพศทางเลือก กว่า 4,852 ราย, อันดับที่ 2 แฟน 3,844 ราย ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัวหรือคนรู้จัก ตั้งแต่ พ่อ แม่ พ่อแม่บุญธรรม พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ญาติ เพื่อน ครู เพื่อนร่วมงาน นายจ้าง ลูกจ้าง พระ มีเพียง 915 ราย จาก 16,672 ราย ที่ถูกทำร้ายจากคนแปลกหน้า
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
- รายงานข้อมูลผู้เข้ารับบริการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลในสังกัด สำนักการแพทย์ กทม. ในปี 2564 มีทั้งหมด 959 ราย
- มีผู้เข้ารับบริการ 715 ราย ถูกทำร้ายร่างกายรวม 748 ครั้ง ในจำนวนนี้มี 84 ราย ถูกทำร้ายซ้ำ
ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - รายงานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ ที่เข้ารับบริการของศูนย์ฯ ในปี 2564 รวมจำนวน 3,125 ราย
- มี 2,416 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัว คิดเป็น 77.3%
- 45.6% ของผู้เข้ารับบริการ เป็นผู้หญิง อีก 38.6% เป็นเด็กและเยาวชน
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูล www.violence.in.th บันทึกโดยเจ้าหน้าที่สำนักงาน พม. 76 จังหวัด ในปี 2564 พบมีเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกบันทึกไว้ 2,114 เหตุการณ์ จากผู้กระทำ 1,978 ราย
- ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว 1,610 ราย หรือประมาณ 81% เป็นเพศชาย
- ส่วนผู้ถูกกระทำมีทั้งหมด 2,065 ราย เป็นเพศหญิง 1,624 ราย คิดเป็น 78.6%
- หากดูข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี คือ ปี 2555-2564 จะพบว่าเกือบทุกๆปี เพศหญิงถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวมากกว่า 80% โดยปี 2557 สูงถึง 90.45%
- ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ มากที่สุดคือ สามี-ภรรยา คิดเป็น 52.8% รองลงมา คือ พ่อแม่กระทำต่อลูก คิดเป็น 29.6% และอันดับที่สาม คือ ปู่ย่าตายาย ทำรุนแรงต่อหลาน คิดเป็น 4.5%
- จาก 2,114 เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2564 พบว่า สถานที่เกิดความรุนแรงมากที่สุด คือ บ้านตนเอง 1,493 เหตุการณ์ หรือ 70.6%

ถ้าจะสรุปคร่าวๆจากข้อมูลที่เก็บมาจากหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการพัฒนาสังคม ในปี 2564 จะเห็นว่า มีผู้หญิง และเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญกับการถูกกระทำรุนแรง โดยข้อมูลจากทุกหน่วยงานชี้ให้เห็นไปในทางเดียวกันด้วยว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่ คือ ความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นจากคนใกล้ชิดของผู้ถูกกระทำรุนแรง และมักเกิดขึ้นในบ้านของตนเอง
บ้าน-คนใกล้ชิด จุดเริ่มต้นความรุนแรงในครอบครัว
ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจ ... เมื่อนำตัวแปรเดียวกัน คือ ผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง ไปเปรียบเทียบกับสถิติการเข้าสู่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- รายงานข้อมูลเกี่ยวกับ “คดีความรุนแรงในครอบครัว” จากหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ในปี 2564 มีทั้งหมด 85 คดี ร้องทุกข์ 84 คดี และไม่ร้องทุกข์ 1 คดี
สำนักงานอัยการสูงสุด - รายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับการยื่นสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนในปี 2564 มีทั้งหมด 314 คดี ,สั่งฟ้อง 282 คดี ,สั่งไม่ฟ้อง 3 คดี และยุติสำนวนคดีในชั้นพนักงานอัยการ 23 คดี
- ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สอดคล้องกับข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและพัฒนาสังคม
- ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ รวม 330 ราย มี 149 รายเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่วนคู่สมรส กลับมาเป็นอันดับที่ 2 คือ 72 ราย และผู้ที่อยู่กินหรือเคนยอยู่กินฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส 51 ราย
สำนักงานศาลยุติธรรม - รายงานข้อมูลจำนวน “คดีความรุนแรงในครอบครัวที่ศาลรับฟ้องโดยตรง” ในปี 2564 มีทั้งหมด 168 คดี
- จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวที่ศาลรับฟ้องโดยตรงในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 115 คดี คิดเป็น 68.45%
- รวมข้อมูลจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวในระยะเวลา 10 ปี คือ ปี 2555-2564 ที่ศาลรับฟ้องโดยตรง มีทั้งหมด 740 คดี
ยิ่งออกเดินทาง สมาชิกร่วมทางก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ....คือ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน จากตัวเลขของ “จำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว” ที่เข้าสู่ระบบบริการของสาธารณสุขและพัฒนาสังคม มีจำนวนมากกว่า “ผู้ถูกกระทำที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”และต่างกันมาก ลดจำนวนลงหรือหายไประหว่างทางมากมายอย่างเหลือเชื่อ
ยังไม่ต้องหาคำตอบว่า เหตุใด ตัวเลขของคดีในชั้นตำรวจจึงมีจำนวนน้อยกว่าตัวเลขในชั้นอัยการ ซึ่งอาจเกิดจากวิธีการในการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน
ข้อมูลเหล่านี้ อาจอธิบายเป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกับคดีความรุนแรง ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างชายคนหนึ่งกับผู้หญิงอีก 3 คน โดยมีสิ่งตรงกัน คือ ผู้หญิงที่ถูกทำร้าย 2 คนแรก ไม่ได้รับการตอบสนองจากกระบวนการยุติธรรม จนพวกเธอต้องถูกทำร้ายซ้ำ และไม่กลับไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมอีก แม้กระบวนการยุติธรรมเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทจริง ก็เมื่อมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งสายเกินไป
ในกลุ่มคนที่ทำงานเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีประโยคที่มักพูดกันเพื่อให้เห็นถึง “ลักษณะเฉพาะตัวของปัญหานี้” ได้เป็นอย่างดี ประโยคนั้นกล่าวไว้ว่า ...
“ถูกทำร้ายมาจากที่อื่น ก็หนีเข้าบ้านได้ แต่เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หนีกลับเข้าบ้านไม่ได้ เพราะคนที่ทำร้ายเขารออยู่ในบ้าน”

ครอบครัวอบอุ่น นิยาม“ดาบสองคม” ในสังคมไทย
หากเป็นเช่นนี้ คนในกระบวนการยุติธรรม ที่ติดตามปัญหานี้มาอย่างยาวนาน มีมุมมองในเชิงลึกต่อเรื่องนี้อย่างไร
สันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด มองว่า เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เวลาดูหรือฟังข่าว มีผู้หญิงถูกทำร้ายมายาวนาน แล้วเราเป็นคนวิจารณ์ว่าทำไมไม่เข้าไปช่วย ทำไมไม่ทำแบบนี้ มันก็อาจจะฟังดูง่าย แต่ถ้าเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นเอง ถามว่าจะเข้าไปช่วยเขาหรือไม่ จะมีคำถามว่า สถานการณ์นั้นเราต้องทำอย่างไร ที่จะช่วยเขาได้และตัวเราปลอดภัยด้วย ที่สำคัญทัศนคติที่ถูกปลูกฝังกันมาว่า
“เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่าไปยุ่ง ...หรือ ถ้าไปยุ่งนะ เดี๋ยวเขากลับมาคืนดีกัน เราก็จะถูกด่า”
สันทนี อธิบาย “จุดอ่อน”ที่ทำให้ความรุนแรงในครอบครัว ยังเป็นปัญหาที่หลบซ่อนอยู่ในบริบทของสังคมไทย โดยเฉพาะค่านิยมการให้ค่ากับ คำว่า ครอบครัวอบอุ่น ซึ่งทำให้ความรุนแรงที่มีอยู่ในครอบครัว ไม่ถูกเปิดเผยออกมาจากผู้ถูกกระทำ เพราะในสังคมที่มีมายาคติที่เชื่อกันมาอย่างยาวนานว่า ผู้หญิงที่มีสถานะดีแต่งงานไปแล้วต้องมีครอบครัวที่อบอุ่น กลายเป็นค่านิยมต้นแบบ
และกลายเป็นดาบสองคม ทำให้ผู้ที่มีครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ไม่กล้าเปิดเผยว่า ตนเองถูกทำ ร้าย เพราะกลัวจะถูกสังคมด้อยค่า วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขทำให้ผู้ถูกกระทำรุนแรงบางส่วน เลือกที่จะจบเรื่องไว้เงียบๆ ด้วยการออกเดินทางไปถึงเพียงขั้นตอนของการเข้ารับการรักษาหรือเยียวยา หรือไม่ไปต่อ ถ้าจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“ถ้ามองแค่คำว่า กระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่า อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้ถูกกระทำ มันมากกว่าความหวาดกลัวนะ เพราะมันมีทั้งความอับอายและความหวาดกลัวผสมกัน” อัยการสันทนี เล่าประสบการณ์
และอธิบายว่า หากเลือกนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ญาติหรือเพื่อนบ้านก็จะรับรู้ว่าครอบครัวนี้มีปัญหา และผู้หญิงที่ถูกทำร้ายส่วนหนึ่ง อาจไม่ได้ต้องการให้สามีถูกจับหรือถูกดำเนินคดี เขาแค่ต้อง การให้หยุดทำร้าย และไม่ต้องมายุ่งกันอีก
ไม่รวมผู้หญิงบางส่วนที่อยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงผู้ชาย เมื่อต้องออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเพื่อดูแลลูก ครอบครัว ก็จะมีความกังวลอื่นๆตามมา เช่น หากแจ้งความแล้วจะอยู่ยังไง จะแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆได้อย่างไร
กระบวนการยุติธรรมไทย "ยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ"
สันทนี ฉายภาพให้เห็นว่า ส่วนที่หวาดกลัวก็ต้องคิดว่า กระบวนการยุติธรรมจะปกป้องได้หรือไม่ เมื่อแจ้งความแล้วกลับมาถึงบ้าน ขณะที่สามีได้รับการประกันตัว ทั้งสองคนกลับมาพบกันที่บ้านจะเกิดอะไรขึ้น หรือกรณีไปแจ้งความแล้วถูกไกล่เกลี่ยให้กลับไปคุยกันเองในครอบครัวจะเกิดตามมา
กระบวนการยุติธรรมของเรายังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอที่จะทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมั่นใจในความปลอดภัย และในทางกลับกัน เรายังใช้ทัศนคติรักษาสถาบันครอบครัว มาผลักดันให้ ผู้ถูกกระทำ ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับผู้กระทำด้วยตัวของเขาเอง

สันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ นี่จึงเป็นที่มาของจุดอ่อนซึ่งเป็นบริบทเฉพาะของประเทศไทย คือ “คดีความรุนแรงในครอบครัว เป็นคดีที่ยอมความได้” ซึ่งอัยการสันทนี เห็นว่า เมื่อไปผูกสมการว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ แล้วตามกฎหมายก็จะต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความ
ซึ่งปัญหาว่าผู้ถูกกระทำในคดีความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีความเปราะบางเฉพาะหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของความหวาดกลัว ความอับอาย ภาวะพึ่งพิง ความไม่แน่ใจถึงผลที่จะตามมา ล้วนเกี่ยวพันกับการตัดสินใจที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ทั้งสิ้น
และกว่าที่จะรวบรวมความกล้าเข้าแจ้งความร้องทุกข์ คดีก็อาจขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นหนึ่งในจุดที่ต้องแก้ไขว่าจะลดข้อจำกัดต่างๆในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกระทำได้อย่างไร โดยต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกระทำไม่ให้ถูกกระทำซ้ำและให้กระบวนการยุติธรรมเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่เขาตั้งแต่เริ่มต้น
เร่งสร้างค่านิยมใหม่ พบรุนแรงไม่เพิกเฉย
อัยการสันทนี บอกว่า แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องพยายามสร้างแคมเปญรณรงค์ ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และสังคมไทยต้องไม่เพิกเฉยเมื่อพบเห็นความรุนแรง ยังบอกไม่ได้ว่า วิธีการที่จะช่วยเขาได้ควรต้องทำอย่างไร มีช่องทางไหนในการแจ้งเหตุที่สามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์
เราเรียกร้องสังคมไม่ให้เพิกเฉย ขณะที่ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายหลายอย่าง เช่น คดีความรุนแรงในครอบครัวยอมความได้ หรือคดีความผิดต่อส่วนตัว ทำให้เรื่องเหล่านี้ถูกตีความให้เป็น เรื่องส่วนตัว เป็นปัญหาภายในครอบครัว ที่คนนอกไม่ควรเข้าไปยุ่ง
นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว ก็ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ถูกกระทำ ที่ต้องการความปลอดภัย ไม่ถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามอีก แต่เมื่อมาตรการต่างๆยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการดจึงกลายเป็นจุดอ่อนใหญ่มากๆ ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำ เลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ส่วนในต่างประเทศจะมีมาตรการอื่นๆในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำให้รู้สึกปลอดภัย หากตัดสินใจพึ่งพากระบวนการยุติธรรม เช่น ศาลมีคำสั่งห้ามผู้กระทำเข้าใกล้ตัวเหยื่อ มีเจ้าหน้าที่รัฐมาคอยดูแล มีรูปแบบการจัดที่พักที่ปลอดภัยไว้ให้อยู่อาศัย หรือการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายวันให้กับผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งการมีกระบวนการปกป้องผู้ถูกกระทำ จะทำให้กระบวนการยุติธรรม ตอบโจทย์ของผู้ถูกกระทำมากขึ้น
หากจะหาแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวภายใต้บริบทของประเทศไทยในระยะยาว อัยการสันทนี เห็นว่า ประเทศไทยยังต้องระดมสมองเพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดในหลายๆด้าน เพื่อให้มีข้อสรุปตรงกัน โดยมองว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือ ปัญหาของสังคมที่ต้องระดมองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานช่วยกันเข้าไปแก้ไข

หรือหากมองเป็นปัญหาของปัจเจก เป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นปัญหาภายในครอบครัว ก็จะเขียนกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกกระทำรุนแรงจากคนในครอบครัวเป็นสำคัญ หรือจะเขียนกฎหมายไปเพื่อรักษาสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งเป็นหลัก เพราะหลักการของกฎหมายจะไปกำหนดวิธีการในการปฏิบัติอื่นๆที่ตามมาทั้งหมด
แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐในด่านหน้าก็ยังสับสนว่า เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำทันที หรือต้องช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อช่วยรักษาครอบครัวของคู่กรณีเอาไว้ให้ได้ก่อน กระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายต้องทำอย่างไรในแต่ละเคส และหากตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ชัดเจนจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในลักษณะการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบเพื่อหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง
อัยการสันทนี ทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ต้องไม่ใช้เฉพาะกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องใช้องค์ความรู้หลากหลาย ทั้งทางจิตวิทยา สาธารณสุข สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือแม้แต่การสื่อสารค่านิยมที่ถูกต้องให้สังคมจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะที่ผ่านมา มีผู้ถูกกระทำจำนวนมากที่ต้องต่อสู้อย่างเดียวดายและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่ามายุ่ง” ประโยคนี้ คือ วาทกรรมสำคัญที่ส่งเสริมความรุนแรงในครอบครัว และควรต้องลบออกจากพจนานุกรมของกระบวนการยุติธรรม
รายงานโดย : สถาพร พงศ์พิพัฒน์วัฒนา