วันนี้ (29 ม.ค.2567) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนม.ค. 2567 พบว่า ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนม.ค.2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น
โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการและการลงทุนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสภาพอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งและจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม
สำหรับความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 81.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ ที่ได้อานิสงส์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น มาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า อยู่ที่ระดับ 83.6 โดยได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ทางบกเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด ทั้งในพื้นที่อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของจังหวัด
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 74.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และนโยบายกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ รวมถึงมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากชาวกัมพูชาที่เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์และซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และอุปสงค์ในตลาดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบเศรฐกิจไทย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 73.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่สะสมมานานกว่า 2-3 ปี
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ อย่าง มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ที่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนเป็นผลมาจากมาตรการเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้สิทธิประโยชน์ และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 72.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 71.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะขยายการลงทุนเพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนจากการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและกระทบต่อภาคเกษตรกรรม รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จากแนวโน้มเศรษฐกิจทีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่น ในภาคบริการ เป็นผลจากนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่าง มาตรการ Visa Exemption และ Easy E-Receipt
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนมีความกังวลต่อราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 69.2 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต
อ่านข่าวอื่นๆ:
คนจีนแชมป์สั่งซื้อ "ทุเรียนไทย" ปี66 พุ่งกว่า 9 หมื่นล้าน