ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คณะแพทย์ฯ จุฬาลงกรณ์ ยกเลิกตัดเกรด A-F เหลือแค่ S/U

สังคม
29 ม.ค. 67
14:04
12,442
Logo Thai PBS
คณะแพทย์ฯ จุฬาลงกรณ์ ยกเลิกตัดเกรด A-F เหลือแค่ S/U
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะแพทย์ จุฬาฯ เปลี่ยนวัดประเมินผลนิสิตแพทย์ เหลือแค่ S กับ U ผ่านและไม่ผ่าน ยกเลิกเกรด A-F แต่ยังคงไว้จัดอันดับเกียรตินิยม เน้นนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ มีจิตวิญญาณความเป็นแพทย์ และเรียนอย่างมีความสุข ปราศจากการแข่งขัน

วันนี้ (29 ม.ค.2567) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันทชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ และ รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต พ.ศ.2567 ว่า รูปแบบการเรียนการสอนของคณะแพทย์ฯ จุฬาลงกรณ์ มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีการศึกษานี้จะเปลี่ยนการประเมินนิสิตแพทย์ใหม่ จากเดิมใช้เกรด A-F มาเป็น S หรือ U แทน เพื่อลดภาวะความเครียดจากการเรียน และการแข่งขันในนิสิต แต่ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และจิตวิญญาณความเป็นแพทย์มากขึ้น

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการวัดประเมินผลในกลุ่มการเรียนการสอนคณะแพทย์ฯนี้ นับได้ว่า เป็นการทำในภาวะที่คณะแพทย์ แข็งแกร่งมากที่สุด และสอดคล้องกับทิศทางการเรียนทั่วโลก ที่มุ่งเน้นเรื่องสมรรถนะ การนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ เพื่อประโยชน์ของคนไข้ และการเรียนที่เน้นความรู้ การเพิ่มพูนความรู้มากกว่าการแข่งขันกัน

เดิมการเรียนมุ่งแต่สอนกลางภาค ปลายภาค มีแต่การสอบ แต่การเรียนการสอนแบบนี้จะมุ่งเรื่องของการคิดวิเคราะห์ความเมตตาเผื่อแผ่

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ในอนาคตทุกคณะในจุฬาฯ จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับคณะแพทย์ ซึ่งปัจจุบันก็มีบางวิชา เช่น วิชาทางเลือกตามความถนัด ที่เปิดกว้างให้นิสิตเลือก และวิชาเหล่านี้จะให้เกณฑ์แค่ ผ่านกับไม่ผ่านเท่านั้น

ทั้งนี้ยังเชื่อว่าในอนาคตรูปแบบการเรียนการสอน การวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากระดับมหาวิทยาลัย มาถึงระดับมัธยมศึกษา

การเปลี่ยนวัดประเมินผลนี้ อาจจะยังไม่เห็นผลใน 5 ปี แต่ทิศทางทั่วโลกเหมือนกันหมดต้องมีการเปลี่ยนแปลง และจะเปลี่ยนจากยอดบนลงล่างคือ มหาวิทยาลัยถึงมัธยมศึกษา เน้นการนำไปปรับใช้ และความสุขในการเรียน

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า หลักสูตรของคณะแพทย์ จุฬาฯ มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนตลอด 77 ปี ตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตร 2 ปริญญา ให้แพทย์ได้เรียนตามความถนัดเพิ่ม หรือ หลักสูตรแพทย์อินเตอร์

ส่วนการประเมินผล S/U เป็นการวัดว่า การเรียนที่ผ่านมาผ่านเกณฑ์ตามที่คณะแพทย์กำหนดหรือไม่ ไม่มี A,B,C,D,F โดยหากผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้ การประเมินว่า S หากไม่ผ่านเกณฑ์จะได้รับ U

ส่วนการจัดอันดับเกียรตินิยมยังคงมีอยู่ เนื่องจากเห็นว่ายังเป็นประโยชน์แก่นิสิต โดยการประเมินจะใช้วัดว่านิสิตมีความสามารถ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ในการเรียนครั้งสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ ลดความเครียด ลดการแข่งขัน มีความสุขในการเรียน และยังมีคุณสมบัติเป็นเลิศทางวิชาการ ,เป็นเลิศด้านการปฏิบัติ และเป็นเลิศด้านวิชาชีพ มีหัวใจของความเป็นแพทย์

มั่นใจว่าต่อไปทิศทางอนาคตของคณะแพทย์ฯ หลายแห่งจะมีการปรับตัว มาใช้รูปแบบการวัดประเมินผลแบบนี้ ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ทางปฏิบัติ ไม่เกิดความเครียด เกิดความสุข และรู้จักการทำงานเป็นทีม

 อ่านข่าวอื่น: 

"กยศ." ให้ "ผู้กู้" เริ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ 15 ก.พ.67

แพทย์ ชี้ Sleep Test เหมาะกับผู้มีปัญหาคุณภาพการนอนหลับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง