ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทช.สำรวจสัตว์ทะเลหายาก พบ "วาฬบรูดา - โลมา" ชุกชุม สุขภาพดี

สิ่งแวดล้อม
27 ม.ค. 67
19:29
1,506
Logo Thai PBS
ทช.สำรวจสัตว์ทะเลหายาก พบ "วาฬบรูดา - โลมา" ชุกชุม สุขภาพดี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจประชากร "สัตว์ทะเลหายาก" ในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน พบ "วาฬบรูดา - โลมา" ชุกชุม สุขภาพดี

วันนี้ (27 ม.ค.2567) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ศึกษาวิจัย สำรวจสถานภาพ และสุขภาพของสัตว์ทะเลหายากทั่วประเทศ โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) ออกสำรวจเมื่อวันที่ 22 - 26 ม.ค.2567 เจ้าหน้าที่ ศวทบ. ได้ลงเรือสำรวจ พร้อมนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจด้วย

จากการลงพื้นที่สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร พบสัตว์ทะเลหายาก จำนวน 3 ชนิด คือ วาฬบรูดา จำนวน 6 ตัว ทราบชื่อ จำนวน 3 ตัว ได้แก่ แม่กันยา กับ เจ้ามะลิ เจ้าสมุทร และไม่ทราบชื่อ จำนวน 3 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี ระยะห่างจากฝั่ง 7 - 21 กิโลเมตร

พร้อมทั้งโลมาอิรวดี จำนวน 28 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี ระยะห่างจากฝั่ง 0.4 - 7 กิโลเมตร และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ จำนวน 3 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ระยะห่างจากฝั่ง 7 - 21 กิโลเมตร

จากนั้นสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพวาฬบรูดาที่สำรวจพบ พบมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ดี และพบรอยโรค Tattoo Skin Disease บนผิวหนังวาฬบรูดา จำนวน 3 ตัว ได้แก่ แม่กันยา กับ เจ้ามะลิ และเจ้าสมุทร พบบาดแผลบริเวณปลายปากบนและล่างของเจ้ามะลิ และด้านหลังของครีบหลังของวาฬบรูดาไม่ทราบชื่อ จำนวน 2 ตัว ซึ่งสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพสัตว์ทะเลหายากต่อไป

พร้อมกันนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ลงพื้นที่สำรวจในวันที่ 25 – 26 ม.ค.2567 ได้สำรวจสัตว์ทะเลหายากโดยใช้อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) ด้วยวิธีสำรวจแบบ Line-transect ซึ่งสำรวจใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเกาะสุกร ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน และบริเวณหน้าหาดสำราญ ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง รวมพื้นที่สำรวจประมาณ 35.3 ตารางกิโลเมตร และ 30 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ

ผลการสำรวจพบสัตว์ทะเลหายาก จำนวน 3 ชนิด โดยบริเวณเกาะสุกร พบพะยูน จำนวน 2 ตัว และเต่าตนุ จำนวน 2 ตัว การสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจพบพะยูนในพื้นที่เกาะสุกร ส่วนบริเวณหน้าหาดสำราญพบโลมาหลังโหนก จำนวน 3 ตัว และเต่าตนุ จำนวน 3 ตัว โดยพฤติกรรมของสัตว์ทะเล ทั้ง 3 ชนิดที่พบ มีการว่ายน้ำเข้ามาหากินในช่วงน้ำขึ้น

ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้ จะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดตรังต่อไป

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยว และเรือประมงในพื้นที่ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก

การปรากฏตัวของสัตว์ทะเล สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ 

อ่านข่าวอื่น ๆ

ทช.คาด “แม่ท้ายเหมือง” ติดเชือกอวนตาย ไม่พบวางไข่ตามวงรอบ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอุทยานฯทับลาน 2.6 แสนไร่

พิกัด "สิงโต" ทั่วไทย 223 ตัว แจ้งครอบครอง 8 สัตว์ดุร้าย 444 ตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง