เด็กอายุ 12-15 ปี ทำผิด ไม่ต้องถูกลงโทษ ??
“ควรแก้ไขกฎหมายให้รุนแรงขึ้น เมื่อผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน”
มีข้อเสนอที่เป็นการแสดงความเห็นเช่นนี้ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีข่าวปรากฎตามสื่อสารมวลชนว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงจนถึงระดับที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมากต่อผู้รับสารในสังคม และผู้ก่อเหตุเหล่านั้นยังมีสถานะเป็นเด็ก ซึ่งอยู่ภายใต้ “กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก”
คำว่า “กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก” หมายถึง การแยกวิธีการจัดการกับผู้กระทำความผิดที่ยังมีสถานะเป็นเด็กและเยาวชน ให้ไม่ไปปะปนกับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น การพิจารณาคดีผ่านศาลเยาวชนและครอบครัว หรือการออกแบบวิธีการให้รับโทษในรูปแบบต่างๆโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเหล่านั้นให้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคม
รวมทั้งเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงที่เป็นภูมิหลังในด้านต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด โดยกระบวนการสืบเสาะข้อเท็จจริงนี้จะดำเนินการทั้งกับเด็กและเยาวชนที่ทำผิด เพื่อให้รู้ต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ก่อเหตุ
แต่เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น มีเหตุสะเทือนขวัญอย่างการก่อเหตุไล่ยิงคนทั่วไปในห้างสรรพสินค้า หรือการรุมทำร้ายผู้หญิงสูงวัยจนเสียชีวิตพร้อมร่วมกันปกปิดความผิดจนเกือบจะทำให้ผู้บริสุทธิ์อีกคนต้องถูกลงโทษแทน ก็เข้าใจได้ว่า ทำให้คนในสังคมมีสิทธิที่จะตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กในรูปแบบที่ใช้อยู่ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับคนอื่นๆในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนได้หรือไม่
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการตัดสินใจ ควรทำความเข้าใจเนื้อหาที่แท้จริงของ “กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก” ไปด้วย
ถอด “ภาษากฎหมาย” กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อกฎหมายที่ถูกออกแบบไว้เป็นกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อการสื่อสารเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก” ถูกสื่อสารผ่าน “รูปแบบภาษา” ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ ลดการตีตราเด็ก
เช่น “ไม่ต้องรับโทษ” และ “สถานฝึกและอบรม” ซึ่งหากถูกสื่อสารออกสู่สาธารณะโดยไม่มีคำอธิบาย อาจถูกตีความหมายที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง ทำให้สังคมได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และเกิดความเข้าใจผิดว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ทำอะไรเลยกับเด็กที่กระทำความผิด
ทีมข่าว ThaiPBS online จึงประสานงานเพื่อพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคปฏิบัติจากหลายหน่วยงาน เพื่อค้นหา “ข้อเท็จจริงของการใช้กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ”
ประเด็นที่ต้องตั้งเป็นโจทย์ ย่อมมาจากข้อถกเถียงที่เป็นโจทย์สำคัญในขณะนี้ คือ เมื่อเด็กกระทำความผิดจะ “ไม่ต้องรับโทษ” ?? .... กฎหมายปกป้องเด็กที่กระทำความผิดมากไป ?? ..... มาไล่เรียงไปทีละมาตรา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 กำหนดให้ เด็กที่มีอายุๆไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
ข้อเท็จจริง
คำว่า “ไม่ต้องรับโทษ” ในมาตรา 73 มีความหมายว่า หากเด็กอายุไม่ถึง 12 ปี กระทำความผิด จะไม่ถูกส่งฟ้องศาล ... แต่หากมีความผิดรุนแรง พนักงานสอบสวนสามารถส่งตัวให้ “เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก” นำตัวไปดูแลได้
หากเป็นมาตรฐานสากล จะกำหนดอายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษไว้ที่ 14 ปี ดังนั้นการที่ประเทศไทยกำหนดอายุไว้ที่ 12 ปี ยังถือว่า มีมาตรการการลงโทษที่รุนแรงกว่ามาตรฐานสากลด้วยซ้ำ
ส่วนจุดที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุด โดยมีต้นเหตุจากหลายเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา คือ เด็กอายุ 12-15 ปี ทำผิดแล้ว ก็ยังไม่ต้องรับโทษเช่นกัน จริงหรือ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้น “ไม่ต้องรับโทษ” แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ด้วย “วิธีการสำหรับเด็ก” คือ ว่ากล่าวตักเตือนเด็ก ว่ากล่าวตักเตือนผู้ปกครอง ....
หากผู้ปกครองมีศักยภาพดูแล จะส่งกลับไปให้ผู้ปกครองดูแล โดยมีเงื่อนไขที่ศาลสามารถกำหนดมาตรการการคุมประพฤติต่อเด็ก หรือแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติ และผู้ปกครองจะต้องจ่ายค่าปรับหากเด็กก่อเหตุอีก
ถ้าเด็กไม่มีผู้ปกครอง หรือ ผู้ปกครองไม่มีศักยภาพในการดูแลเด็กได้ ศาลสามารถสั่งให้เด็กไปอยู่ในความดูแลของบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรว่าจะดูแล อบรม สั่งสอน ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้
ส่งตัวเด็กไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด จนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปี
ข้อเท็จจริง
คำว่า “ไม่ต้องรับโทษ” ตามมาตรา 74 มีความว่า หากผู้ทำผิดมีอายุ 12-15 ปี สามารถส่งฟ้องศาลได้ แต่ไม่สามารถใช้โทษอาญาได้ เช่น โทษจำคุก หรือประหารชีวิต แต่จะไปดำเนินการตาม “วิธีการสำหรับเด็ก”
- หากพิจารณา “วิธีการสำหรับเด็ก” จะเห็นว่ามีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ขึ้นกับลักษณะของความผิด
- ในมาตรการท้ายๆ คือ กรณีที่ศาลเห็นว่า ผู้ปกครองดูแลเด็กไม่ได้ หรือไม่มีผู้ปกครอง จะส่งเด็กไปยังโรงเรียน สถานฝึกและอบรม มีรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- สถานที่ต่างๆ ที่ศาลสามารถมีคำสั่งให้ส่งเด็กอายุ 12-15 ปี ที่กระทำความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74
- สถานแรกรับ คือ รับเด็กไว้อุปการะชั่วคราว เพื่อ ค้นหาสาเหตุของความรุนแรงจากเด็กและครอบครัว ก่อนจะกำหนดมาตรการขั้นต่อไป
- สถานสงเคราะห์ คือ สถานที่อุปกระเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์
- สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ คือ ให้การศึกษา อบรม ฝึกอาชีพ เพื่อแก้ไขความประพฤติ บำบัด รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งร่างกายและจิตใจสถานพัฒนาและฟื้นฟู คือ โรงเรียน สถาบัน หรือศูนย์ที่จัดขึ้นเพื่อให้มีการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการศึกษา แนะแนว และการฝึกอบรมอาชีพแก่เด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ
จะเห็นได้ว่า การถูกส่งไปยังสถานที่เหล่านี้ เช่น สถานคุ้มครอง หรือ ศูนย์ฝึก ก็คือ การถูกจำกัดบริเวณ ต้องปฏิบัติตัวตามตารางการอบรม กิน นอน เป็นเวลา ยังต้องเรียนหนังสือ ต้องถูกประเมินเพื่อเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมเฉพาะบุคคล
ที่สำคัญคือ ต้องมีกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้รู้ว่า ทำไมเด็กเหล่านี้ถึงก่อเหตุรุนแรง และวางแผนในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูต่อไปแท้จริงแล้ว กระบวนการเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากการ “รับโทษ”
แต่ภาษาในกฎหมายใช้คำว่า “ไม่ต้องรับโทษ” เพื่อไม่ให้เด็กเหล่านี้มีความรู้สึกว่ามีตราบาปติดตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในทางจิตวิทยา
หากกลับไปดูเนื้อหาข่าวในคดีสำคัญ จะเห็นว่า เยาวชนอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้า ที่ยังต้องรอให้มีความพร้อมทางสุขภาพจิต หรือ เยาวชน 5 คน ที่จังหวัดสระแก้ว ก็ถูกส่งมา “ควบคุมตัว” ในสถานที่เช่นนี้ และยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้
ดังนั้น ในข้อเท็จจริงคือ เด็กอายุ 12-15 ปี ที่กระทำความผิด “ยังคงต้องรับโทษ” เพียงแต่ไม่ใช่ “โทษทางอาญา” โดยมีวิธีการลงโทษอื่น เพียงแค่เปลี่ยนไปใช้ “ถ้อยคำ” ที่ดูไม่รุนแรง เท่านั้น
ส่วนผู้ปกครองมีกระบวนการรับผิดทางแพ่ง คือ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เด็กก่อขึ้น และยังต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นหากรับเด็กที่เคยก่อเหตุไปดูแล้วยังก่อเหตุซ้ำ ส่วนการเสนอให้ผู้ปกครองต้องรับผิดทางอาญาแทนเด็กที่กระทำความผิด ยังไม่มีประเทศใดในโลกมีกฎหมายเช่นนี้
ดังนั้น หากนำเสนอเนื้อหา หรือเพียงอ่านตามตัวอักษร โดยไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริง ก็อาจเข้าใจผิดได้ว่า เด็กอายุ 12-15 ปีที่ทำความผิด จะไม่ต้องถูกลงโทษเลย และความเข้าใจผิดเหล่านั้นอาจนำไปสู่การกดดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบย้อนกลับ
กล่าวคือ กลับไปใช้วิธีการแบบเดิม ที่เคยทำไปแล้ว และเคยมีบทสรุปมาแล้วว่า “ไม่ได้ผล” เพราะเป็นวิธีการที่ไม่สามารถยับยั้ง การกระทำผิดของเด็กหรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้นได้จริง แต่ในทางกลับกัน ยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำขึ้นไปอีก
“กระบวนการยุติธรรมในเด็ก” เสียงพ้องนักวิชาการในแวดวงเยาวชน
การส่งเด็กไปศูนย์ฝึก (สถานพัฒนาและฟื้นฟู) จริง คือ การลงโทษ และเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะเลือกใช้ เพราะเกือบจะเหมือนอยู่ในเรือนจำ ต้องกินนอนเป็นเวลา เรียน บำบัด เข้าคอร์สฝึกอาชีพ นอนรวมในห้องที่มีลูกกรง
แต่ต้องตั้งชื่อเรียกสถานที่ต่างๆให้ดูไม่รุนแรง เพราะต้องการฟื้นฟูให้เขากลับมา มากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่การลงโทษ และต้องไม่ลืมว่า มากกว่า 90% ของเด็กที่กระทำความผิดจนถูกส่งมาที่กระบวน การยุติธรรม เป็นเด็กอยู่ในครอบครัวสังคม ซึ่งใช้ความรุนแรงมาก่อน หมายถึงมีเด็กจำนวนมากเคยเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงด้วย
ดังนั้น หากยิ่งทำให้เขารู้สึกว่า เขากำลังถูกลงโทษรุนแรง เรายิ่งไม่มีโอกาสจะนำเขากลับมาเลย และหมายถึงเรากำลังผลิตอาชญากรขึ้นมาเพิ่มอย่างแท้จริง
ดังจะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กมันมีต้นทุนสูงมาก เพราะต้องใช้การลงโทษที่แนบเนียน ต้องค้นหาสาเหตุไปด้วย ต้องให้การศึกษาไปด้วย ต้องบำบัดฟื้นฟูเยียวยาไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่ทั่วโลกเขาไปให้ความสำคัญกันจริงๆ คือ การลงทุนด้านการป้องกัน โดยป้องกันเด็กจากการรับรู้หรือถูกกระทำรุนแรง เช่น การให้ความรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว
หรือ การทำให้สถานศึกษา มีความสามารถ ในการจัดการปัญหาความรุนแรง ในโรงเรียนอย่างถูกต้อง ไม่ใช่แค่เรียกเด็กที่เป็นคนแกล้ง และถูกแกล้งมาตักเตือนต่อหน้าครู แต่เด็กไปถูกทำร้ายหนักขึ้นหลังจากนั้น และระบายออกมาด้วยความรุนแรง
“ประเด็นการเพิ่มโทษเด็กที่กระทำความผิด มีตัวอย่างที่คนทำงานด้านเด็กและเยาวชนทุกคนต้องได้เรียน คือ เหตุการณ์ในยุคหนึ่งของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเด็กก่ออาชญากรรมจำนวนมาก จนประชาชนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว เขาจึงใช้นโยบายลงโทษเด็กที่กระความผิด ด้วยวิธีการเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อประเมินผลต่อมาพบว่า เมื่อเด็กกลุ่มนั้นถูกปล่อยตัวออกไป กลับมีอัตราการกระทำผิดซ้ำสูงมาก สูงกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ กลายเป็นว่า ยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนั้น กลายเป็นเหมือนสัตว์ประหลาดในสังคม และไม่มีทางที่จะได้พวกเขากลับมา”
ส่วนเยาวชนอายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ใดอายุกว่า 15 ปีแต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง
ข้อเท็จจริง
- หากผู้กระทำความผิดมีอายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ศาลจะพิจารณาได้ว่า จะใช้ วิธีการสำหรับเด็ก (มาตรา 74) หรือ ลงโทษทางอาญาเหมือนผู้ใหญ่ แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
นอกจากข้อถกเถียงเรื่อง “เด็กทำผิดไม่ถูกลงโทษ” ซึ่งมีคำอธิบายอยู่ในบทความชิ้นนี้แล้ว ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กในประเด็นอื่นๆที่สำคัญ ที่ยังต้องหาคำตอบว่า เนื้อหาที่ถูกนำเสนอกันผ่านทั้งทางช่องทางสื่อสารมวลชน หรือที่มีความเห็นออกมาโลกออนไลน์ เป็น “ข้อเท็จจริง” หรือไม่ เช่น
- เด็กกระทำความผิดมากขึ้น ก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น ??
- เด็กที่กระทำความผิดมีอายุน้อยลง ??
- เด็กบางคนที่กระทำความผิดได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ ??
- การลงโทษรุนแรง จะทำให้เด็กกลัว และไม่กล้ากระทำผิด ??
โปรดติดตามใน EP.2
รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- กระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน
- กระทรวงยุติธรรม
- โทษทางอาญา
- ประมวลกฎหมายหมายมาตรา73
- เด็กทำผิดไม่ถูกลงโทษ
- ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75
- กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก
- ข่าววันนี้
- ข่าวล่าสุดวันนี้
- คดีป้ากบ
- เยาวชนในสถานพินิจ
- คุกเด็ก
- สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก
- คดีฆาตกรรมป้ากบ
- กฎหมายเยาวชน
- กฎหมายเยาวชน ล่าสุด
- กฎหมายเด็กและเยาวชน
- กฎหมายเยาวชนและครอบครัว ล่าสุด
- สรุปกฎหมายเยาวชนและครอบครัว