วันนี้ (22 ม.ค.2567) ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอในแอปพลิเคชันติ๊กต็อก ปรากฏภาพของดวงอาทิตย์สีแดงซ้อนกัน 2 ถึง 3 ดวง มีการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยจากหลักฐานที่มีเพียงวิเคราะห์คลิปวิดีโอ เบื้องต้น "เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากภาพสะท้อนกระจก"
นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. อธิบายเพิ่มว่า เบื้องต้นปรากฏการณ์ที่สามารถทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏได้หลายดวงนั้นมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การสะท้อนภายในเลนส์ของกล้องเอง (lens glare) การสะท้อนกับกระจกอาคาร ไปจนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ
หากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสะท้อนภายในกล้องนั้น จุดสังเกตคือตำแหน่งของแสงมักเปลี่ยนตามมุมของกล้องที่ส่ายไปมา ซึ่งไม่ปรากฏในวีดีโอนี้) และปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ส่วนปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศที่อาจสะท้อน และหักเหแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นแสงจากดวงอาทิตย์ในมุมที่เปลี่ยนไปได้นั้นก็มีอยู่ด้วยกันอยู่หลายปรากฏการณ์ เช่น Sun Dog [4], Sun Pillar [5], Novaya Zemlya effect [6] ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศตามธรรมชาตินั้นมักจะมีสมมาตร ไม่ว่าจะเป็นแบบวงกลม เช่น รุ้งกินน้ำ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด ตามแนวนอน เช่น Sun Pillar และ Novaya Zemlya หรือตามแนวตั้ง เช่น Sun Dog สืบเนื่องมาจากรูปร่างทรงกลมของหยดน้ำ และการสะท้อนภายในผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศที่กำลังตกลงตามแรงโน้มถ่วง ตามลำดับ
แต่หากสังเกตจากวิดีโอ จะพบว่า "ปรากฏการณ์" ที่สังเกตเห็นได้นั้น มีภาพลวงของดวงอาทิตย์ปรากฏในแนวที่เฉียงออกไปในทิศทางเดียว ขัดแย้งกับสมมาตรที่สามารถพบได้ในชั้นบรรยากาศ เป็นการยากที่จะอธิบายว่าอนุภาคในอากาศจะต้องมีการเรียงตัวกันอย่างไร จึงจะสามารถสังเกตเห็นภาพลวงของดวงอาทิตย์ที่เฉียงไปทางบนขวาเพียงอย่างเดียวได้
ทั้งนี้ หากสังเกตจากภาพดวงอาทิตย์ 2 ดวงที่มีการเผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากนิวซีแลนด์ [2] หรือจากจีน [3] ต่างก็พบว่ามีการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ในแนวราบด้วยกันทั้งนั้น
นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วพื้นผิวที่เกิดการสะท้อนหรือหักเหในชั้นบรรยากาศนั้นมักจะมีลักษณะที่เบลอไม่ได้เป็นขอบที่ชัดเจน สืบเนื่องมาจากระนาบการสะท้อนแสงที่ซ้อนกันหลายระนาบตลอดทั้งมวลอากาศ ในขณะที่ภาพดวงอาทิตย์ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ดังกล่าวมีขอบชัดเจน จึงบ่งชี้ว่าเกิดจากการสะท้อนจากพื้นผิวแบนราบ ที่มีความหนาเพียงแผ่นบาง ๆ ในระนาบเดียว ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ
ดร.มติพล ระบุอีกว่า ยังมีปริศนาอีกว่า หากชั้นบรรยากาศสามารถเบี่ยงทิศทางแสงอาทิตย์ได้ แล้วเพราะเหตุใดสมมาตรวงกลมของดวงอาทิตย์ดวงเดิมจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อภาพลวงตาดังกล่าวซ้อนทับกับดวงอาทิตย์อยู่ ซึ่งหากสังเกตจากปรากฏการณ์ Novaya Zemlya ทั่ว ๆ ไปนั้น จะพบว่าดวงอาทิตย์เดิมนั้นไม่ได้ปรากฏเป็นวงกลมที่สมมาตรอีกต่อไป และแม้กระทั่งปรากฏการณ์ที่พบในนิวซีแลนด์ [2] หรือจีน [3] ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ปรากฏดวงอาทิตย์ที่มีขอบเป็นวงกลมซ้อนกันด้วยกันทั้งนั้น
ด้วยเหตุที่ภาพที่ปรากฏนั้นเป็นดวงอาทิตย์ที่มีขอบคมซ้อนทับกันเป็นแนวเฉียงในทิศทางเดียว โดยไม่ได้ยืดออกแต่อย่างใด
จึงสามารถสรุปได้ว่า วัตถุที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาพซ้อนกันนั้น ควรจะเป็นวัตถุที่มีการเรียงตัวเป็นระนาบแผ่นบางเพียงแผ่นเดียว ซึ่งวัตถุที่น่าจะเป็นมากที่สุดในกรณีนี้ น่าจะเป็นกระจกของอาคารที่ถ่ายอยู่
อ่านข่าวอื่น ๆ
อดีตอธิบดีกรมพินิจฯ ชี้ "เด็กก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่ภัยคุกคามบ้านเมือง"
เศร้า! "แม่เต่ามะเฟือง" ถูกอวนหมึกรัดคอตายคาหาดท้ายเหมือง
วัฒนธรรมการเชียร์บอลแบบ "ญี่ปุ่น" ต้นแบบการพัฒนาฟุตบอลของทวีปเอเชีย