วันนี้ (22 ม.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมด้วยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม
ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงระนอง-เกาะสอง พูดคุยประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง รวมถึงจะพบปะประชาชนกลุ่มประมงและกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนดีใจที่ได้มาระนองครั้งแรกในรอบ 40 ปี ซาบซึ้งถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากพี่น้องชาวระนองและความจริงใจจากชาวใต้ ที่มีให้กับพวกเรา แม้ระนองจะเป็นจังหวัดเล็ก แต่รัฐบาลให้ความสำคัญ ความจริงใจความอบอุ่นที่เราได้รับในวันนี้จะประทับใจไปโดยไม่รู้ลืม
จากการรับฟังการรายงานท่าเทียบเรือมีหลายมิติ รัฐบาลนี้ยินดีสนับสนุนการปรับท่าเรือตรงนี้ให้มีการยกระดับมาตรฐานขึ้นมาสูงขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงการค้าชายแดนการเดินทางระหว่างนักท่องเที่ยวที่มาจากเมียนมา รวมไปถึงการทำงานซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะปรับปรุงแต่ท่าเรืออย่างเดียว ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่การที่มีการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก เรื่องที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องการความสะดวกสบายต้องการ One Stop Service ไม่ต้องเสียเวลา
ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ ที่จะทำให้ท่าเรือระนองแห่งนี้มีความทันสมัย และมีความสะดวกสบายในการใช้ ซึ่งตนยืนยันว่า จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การทำให้ท่าเรือนี้ดีขึ้น และเรื่องการประมงถือเป็นเรื่องสำคัญการแก้ไขปัญหา IUU ปลดล็อกให้คนไทยไปค้าขายได้อย่างดีขึ้น
นอกจากนี้ ในบ่ายวันนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้
ซึ่งเป็นการประชุมนอกรอบกับภาคเอกชน จัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับงบประมาณจาก ครม.สัญจร จ.ระนอง เพื่อไปดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือ โครงการ Quick win รวมทั้งหมด 21 โครงการ วงเงินรวมกว่า 616.9 ล้านบาท ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.2567)
อ่านข่าว : ชาวบ้านระบุรัฐบาล “มัดมือชก” โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.สัญจรตั้งธงเดินหน้า
สำหรับโครงการสำคัญที่มีความพร้อม และดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี แยกเป็นจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ดังนี้
กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทั้งหมด 4 โครงการ วงเงินรวม 134.55 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการผนึกกำลังผู้ประกอบการทางการค้า กับเศรษฐกิจท่องเที่ยวอันดามันเชิงสร้างสรรค์ 25.3 ล้านบาท
โครงการมารีน่าชุมชน ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเรือท่องเที่ยวชุมชนทะเลอันดามัน 16.8 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 35.9 ล้านบาท ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ "ของฝากจากชุมชน บนพื้นฐานศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล"
อ่านข่าว : “โครงการแลนด์บริดชุมพร-ระนอง” กับความกังวลของคนในท้องถิ่น
เสริมสร้างศักยภาพ "ช่างชุมชน" เพื่อคนชาวเล อยู่รอด ปลอดภัย และส่งเสริมการสร้างงานบนพื้นฐานความยั่งยืน และ โครงการเสริมสร้างศักยภาพคนทุกช่วงวัย เพื่อความมั่งคงทุกมิติ 56.5 ล้านบาท ทั้งเสริมสร้างศักยภาพครัวเรือนเปราะบาง อยู่รอด ปลอดภัย อย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชนครัวเรือนบ้านมั่นคง เพื่อคนทุกวัน
ขณะที่งบรายจังหวัด มีโครงการที่เสนอขอมาดังนี้ คือ จ.ระนอง เสนอ 1 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท เป็นโครงการปรับปรุงถนนและระบบสาธารณูปโภคพร้อมปรับภูมิทัศน์ถนน จัดสรรพัฒนา ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง
จังหวัดภูเก็ต เสนอ 8 โครงการ วงเงิน 212 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอย ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย จ.ภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต 40 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก คลองบางใหญ่ (เฟส 2) (ภายในโรงเรียนสตรีภูเก็ต) 26.5 ล้านบาท
อ่านข่าว : นายกฯพร้อมรับฟังความเห็นทุกด้าน "โครงการแลนด์บริดจ์"
โครงการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ถนนนาเกาะ-บางโจ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 10.8 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงเส้นท่อบริเวณ ถ.ทวีวงศ์ และซอยบางลา ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 11.4 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงเส้นท่อถนนผังเมืองลาย ก ถ.นาโน, ถ.นาใน 2/1 และซอยแสนสบาย ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 10.7 ล้านบาท
โครงการเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) เพื่อการท่องเที่ยว 30.5 ล้านบาท, โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลเมืองภูเก็ต เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 36.9 ล้านบาท และ โครงการ Digital wallet ของเทศบาลเมืองป่าตอง 45 ล้านบาท
ขณะที่ จังหวัดกระบี่ เสนอ 1 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท คือ โครงการเพิ่มศักยภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ แยกเป็นจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ประกอบห้องปฏิบัติการตรวจหัวใจและการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ และปรับปรุงห้องผ่าตัด และพื้นที่บริเวณห้องผ่าตัด โรงพยาบาลคลองท่อม
อ่านข่าว : “โครงการแลนด์บริดชุมพร-ระนอง” กับความกังวลของคนในท้องถิ่น
จังหวัดตรัง เสนอ 2 โครงการ วงเงิน 60 ล้านบาท ประกอบด้วย
- โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือควนตุ้งกู บ้านควนตุ้งกู ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง 25 ล้านบาท
- โครงการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นไฟฟ้ากิ่งคู่ เสาสูง 9 เมตร (กะปาง - ห้วยนาง,ห้วยนาง - ต้นม่วง,นาวง - ห้วยยอด) 35 ล้านบาท
จังหวัดพังงา เสนอ 2 โครงการ วงเงิน 52.2 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการท่าเทียบเรืออัจฉริยะจังหวัดพังงา (Phang-Nga Smart Piers) 45 ล้านบาท, และโครงการติดตั้งระบบดับเพลิง (Fire Pump) พร้อมระบบท่อน้ำดับเพลิงและตู้ อุปกรณ์ดับเพลิง ขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะปันหยี 7.5 ล้านบาท
สำหรับ จังหวัดสตูล เสนอ 3 โครงการ วงเงิน 57.8 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เทศบาลตำบลกำแพง 19.9 ล้านบาท ,โครงการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำบริเวณอ่าวประมง เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา 12.9 ล้านบาท และโครงการถนนบนคันคลองส่งน้ำ LMC ฝายดุสน ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล 25 ล้านบาท