ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ลุงเปี๊ยก" ถูกคลุมถุงดำ เข้าข่าย กม.อุ้มหายหรือไม่ - เยียวยา "ป้าบัวผัน" 2 แสน

อาชญากรรม
18 ม.ค. 67
12:20
1,211
Logo Thai PBS
"ลุงเปี๊ยก" ถูกคลุมถุงดำ เข้าข่าย กม.อุ้มหายหรือไม่ - เยียวยา "ป้าบัวผัน" 2 แสน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เผย กฎหมายทรมานอุ้มหาย คุ้มครองกรณี "ลุงเปี๊ยก" หรือไม่? ต้องรอผลการสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่ เร่งเยียวยา "ป้าบัวผัน" ทายาทมีสิทธิได้รับ 2 แสนบาท

วันนี้ (18 ม.ค.2567) กรณีมีข่าว นายปัญญา หรือ ลุงเปี๊ยก ถูกกล่าวหาว่าลงมือฆ่าป้าบัวผันต่อมาถูกปล่อยตัวเพราะจับกลุ่มผู้กระทำผิดได้นั้น ล่าสุดมีคลิปเสียงเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเสียงสนทนาของ ชาย 2 คน ระบุว่า ลูกน้อง มีการยอมรับ ว่ามีการคลุมถุงดำ และ ล่ามโซ่จริง แต่อ้างว่าหยอกเล่น รวมถึงในคลิปเสียงยังพูดถึงลุงเปี๊ยก บอกว่า จริงๆ เป็นคนรู้เรื่อง จำได้หมด และ ตอนเล่าเหตุการณ์ไม่ได้เมา นั้น

นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพและโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัด ส่วนจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (กฎหมายซ้อมทรมานและอุ้มหาย) หรือไม่นั้น ต้องรอผลการสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน

อ่านข่าว : คลิปเสียงโผล่! ถุงดำคลุมหัว "ลุงเปี๊ยก" บีบสารภาพฆ่า "ป้าบัวผัน" 

โดยที่กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีหลักการและสาระสำคัญ คือ ห้ามทรมาน กระทำที่โหดร้าย และอุ้มหาย อย่างเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เป็นความผิดสากลที่เอาผิดได้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกสถานที่ โดยองค์ประกอบความผิดแต่ละฐาน พิจารณาจาก (1) ผู้กระทำ (2)การกระทำ (3)วัตถุประสงค์ (4)ผลของการกระทำ เช่น ฐานความผิดการกระทำทรมาน ผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่ใช้อำนาจรัฐ กระทำการใดๆต่อผู้อื่น เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือรับสารภาพ ลงโทษ ข่มขู่ เลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ (อาทิ คลุมถุงดำศีรษะ ไฟจี้ ไฟฟ้าช็อต ล่ามโซ่ ซ้อม ทุบตี ฯลฯ) เป็นต้น

ถ้ามีการกระทำผิด ต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เท่านั้นและทุกกรณี หากเป็นการกระทำทรมาน อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี จนถึงตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท นอกจากนั้น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่รู้การ กระทำนั้นแต่เพิกเฉยต้องรับโทษกึ่งหนึ่ง ส่วนผู้สนับสนุนรับโทษเท่าตัวการ ผู้สมคบรับโทษหนึ่งในสามแต่ถ้าความผิดสำเร็จรับโทษเท่าตัวการ

นายธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายกำหนดว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการควบคุมตัว หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือการกระทำอื่นที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายบุคคล จะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย พร้อมทั้งแจ้งการควบคุมตัวไปยังอัยการและฝ่ายปกครองให้ทราบ

ซึ่งคณะกรรมการฯตามกฎหมายได้ออกระเบียบแนวปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติแล้ว ซึ่งผู้เสียหายหมายความถึง สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้อยู่กินฉันสามีภรรยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ และบุคคลที่กฎหมายกำหนด มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลการควบคุมตัว มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอยุติการกระทำความผิด รวมถึงสิทธิการได้รับการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น

หากผู้ใดที่พบเห็นหรือทราบ การทรมานฯบุคคลใด ให้แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ได้ทุกท้องที่ ทุกจังหวัด รวมถึงสามารถแจ้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศเพื่อจะได้ประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องต่อไป และหากการแจ้งนั้นกระทำโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย แม้ปรากฎภายหลังว่าไม่มีการกระทำผิดตามที่แจ้ง

คุ้มครองสิทธิฯ เร่งเยียวยากรณี “ป้าบัวผัน” 

นายธีรยุทธ ยังกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.บัวผัน หรือ ป้ากบ อายุ 47 ปี ถูกคนร้ายฆ่าทุบศีรษะและใบหน้า และนำไปโยนทิ้งในสระน้ำ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญและสาธารณชน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

อีกทั้ง ผู้เสียชีวิต เป็นผู้ถูกกระทำและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่มีสิทธิได้รับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) โดยทายาทมีสิทธิได้รับการเยียวยา

(1) ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย จำนวน 100,000 บาท (กรณีอุจฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และสาธารณชนให้ความสนใจ)
(2) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท
(3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และ
(4) ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ทั้งนี้ การอนุมัติเยียวยา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอนุกรรมการจังหวัดสระแก้วเป็นสำคัญ ซึ่งกำหนดประชุมพิจารณาในวันที่ 31 ม.ค.2567 นี้

ส่วนการช่วยเหลือ นายปัญญา หรือ ลุงเปี๊ยก สามีของผู้ตาย ที่ได้ถูกคุมขัง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตัวจริงได้นั้น มีสิทธิได้รับการเยียวยา ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 (กรณีเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน) อาจได้รับเงินช่วยเหลือจากที่ถูกขังในชั้นสอบสวน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดสระแก้ว เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เด้ง รอง ผกก.สืบสวนอรัญประเทศ ตั้ง คกก.สอบปมคลิปเสียงคดี "ป้าบัวผัน"

คดี "ป้าบัวผัน" สังคมออนไลน์จี้แก้เกณฑ์อายุเด็กรับโทษ

"บิ๊กโจ๊ก" สอบ "ลุงเปี๊ยก" สางคดี "ป้าบัวผัน" ผบช.ภ.2 ยันไม่จับแพะ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง