วันนี้ (17 ม.ค.2567) นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระแสแฟชั่นอัญมณีและเครื่องประดับของปี 2567 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอันดับ 3 ของประเทศ โดยในปี 2566 พบว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย.2566 อยู่ที่ 8,251.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.81 มีมูลค่า 7,514.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
สำหรับประเทศที่ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและอินเดีย ข้อมูลเว็บไซต์ คิดค้า.com แบ่งกลุ่มธุรกิจการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยตามประเภทเจ้าของธุรกิจได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจที่ชาวไทยเป็นเจ้าของทั้งหมด มีสัดส่วนมากที่สุดถึง ร้อยละ 47.1 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
รองลงมาได้แก่ กลุ่มร่วมทุนไทย-ต่างชาติ สัดส่วนรวมร้อยละ 29.8 และกลุ่มธุรกิจที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด มีสัดส่วนรวมร้อยละ 20.3 และธุรกิจร่วมทุนไทย-ต่างชาติ ที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นมาก มีสัดส่วนรวมร้อยละ 2.8
นายนภินทร กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการไทยนับเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมากและมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเมื่อแบ่งสัดส่วนตามขนาดธุรกิจSML พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ร้อยละ 14.5 ธุรกิจขนาดกลาง (M) ร้อยละ 14.1 และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) ร้อยละ 71.4
แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีวัตถุดิบในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ไทยมีจุดแข็งและเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก โดยเฉพาะหินสีจำพวกพลอย เครื่องประดับทองและเงิน รวมถึงจุดเด่นของช่างฝีมือที่มีชื่อเสียที่สำคัญไทยยังเป็นแหล่งซื้อขายอัญมณีระดับโลก
สำหรับแนวโน้มอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2567 คาดการณ์เครื่องประดับสไตล์ Boho-Chicที่มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ อิสระ มีความยืดหยุ่น (flexible) และสีสันสดใส รวมถึงไข่มุกมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มลูกค้าทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกซึ่งถือเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยชื่อชอบเครื่องประดับไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าแนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกและประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย แต่ภาครัฐต้องสนับสนุน โดยการช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยหลากหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ เพื่อทำให้ประเทศก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก
อย่างไรก็ตามไทยมีความพร้อมและความสามารถในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาแนวโน้มความนิยมและผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลาดเวลา
ในขณะที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับของไทยต้องพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์และมีเรื่องราวที่สะท้อนจุดเด่นของไทย เพราะไทยมีความพร้อมและความสามารถในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ต้องสอดคล้องกับแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์โลกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน และใช้สิทธิพิเศษทางภาษีจาก FTA หาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า ทั้งในด้านการนำเข้าวัตถุดิบและด้านการส่งออก
อ่านข่าวอื่นๆ:
ครม.ไฟเขียวต่ออายุสินค้าควบคุม 5 ชนิด นาน 5 เดือน