การแสดงเสือโคร่งขาวและเสือเบงกอล เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ระหว่างการเข้าเยี่ยมชมเชียงใหม่ไนท์ ซาฟารี แม้จะมีกระแสข่าวสัตว์ตาย 13 ตัว ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนทำให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้บริหารทำรายงานชี้แจง
วันนี้ (13 ม.ค.2567) นายกฤษดา ลาพิมล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ชี้แจงว่า เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา มีสัตว์ป่าตาย 4 ตัว คือ สุนัขจิ้งจอก หมาไนและค่างห้าสี ซึ่งผลการพิสูจน์เกิดจากการสิ้นอายุขัย
ส่วนเสือโคร่งขาว ตายในช่วงเดือนต.ค.สาเหตุเกิดจากอาการติดสัดแล้วมีพฤติกรรมก้าวร้าว กัดทำร้ายกันเองจนบาดเจ็บและตายลง รวมทั้งลูกเสือโคร่งสีขาวอายุ 10 เดือน ตายจากภาวะเลือดชิด
ยืนยันว่า ที่ผ่านมาจะมีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้ามาตรวจสอบบัญชีสัตว์ทุก 1-3 เดือน หากมีสัตว์ตาย จะมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยสาเหตุการตายอย่างละเอียดและมีมาตรฐานในการดูแล อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการทบทวน และหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม
กระบวนการดูแลสัตว์มีกฎหมาย และองค์กรที่ดูแลทั้ง WAZA ในการดูแล และการวางแผนดูแลประชากรสัตว์ รวมทั้งกรมอุทยานฯ เข้าตรวจทุก 1-3 เดือน
แนะยุติกิจการสวนสัตว์-ไม่คุ้ม
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่เคยยื่นหนังสือเพื่อขอให้มีการตรวจสอบปัญหาสัตว์ตายในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เมื่อหลายปีก่อน ระบุว่าแม้ปัจจุบันเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นในบางส่วน เช่น ทีมสัตวแพทย์
แต่ยังพบปัญหาในการจัดการต่างๆ ทั้งจำนวนสัตว์ที่น้อยลง นักท่องเที่ยวไม่ประทับใจ รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า และมาตรฐานต่ำกว่ามาตรฐานสากล จึงตั้งคำถามว่า อาจถึงเวลาในการยุติกิจการสวนสัตว์ และปรับเปลี่ยนให้เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นหรือไม่
จากรายงานผลการดำเนินงานประจำปี สำนักงานพัฒนาพิงคนคร องค์การมหาชน พบข้อมูลเกี่ยวกับการตายของสัตว์ในเชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ดังนี้
โดยในปีงบประมาณ 2566 มีสัตว์ที่มีคุณค่าสูงและมีความสำคัญด้านการอนุรักษ์ ตาย 6 ตัว คิดเป็นร้อยละ 7.69
ส่วนในปีงบประมาณ 2565 มีสัตว์ที่มีคุณค่าสูง ตาย 11 ตัว คิดเป็นร้อยละ 13.09 ลดลงจากปี 2564 ที่มีสัตว์ตายร้อยละ 16.33
ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 มีสัตว์ตายรวม 130 ตัว และมีกลุ่มสัตว์เกรด A ตาย 1 ตัว คือ สมเสร็จบราซิล มูลค่า 520,000 บาท
อ่านข่าว
นายกฯ สั่งชี้แจงปมสัตว์ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีตาย 13 ตัว