ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัส "เศรษฐา" สู่คำขวัญวันเด็กปี 2567 สะท้อนตัวตน

การเมือง
12 ม.ค. 67
14:23
12,316
Logo Thai PBS
ถอดรหัส "เศรษฐา" สู่คำขวัญวันเด็กปี 2567 สะท้อนตัวตน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย" คำขวัญวันเด็กปี 2567 จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

เมื่อย้อนไป 63 ปีที่แล้ว แนวคิดการจัดกิจกรรมและคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2499 ยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อนำประเทศเข้าสู่ความเป็นสากล ตามกระแสทั่วโลกที่เริ่มจัดกิจกรรมในปี 2498

อ่านข่าว : นายกฯ มอบคําขวัญวันเด็ก ปี 2567 มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ สร้างประชาธิปไตย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ "คำขวัญวันเด็ก" สะท้อนความคิดและอุดมการณ์ของผู้นำประเทศแต่ละยุค รวมถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า คำขวัญตั้งแต่ปี 2499-2566 ล้วนเป็น "คำสั่ง" หรือสิ่งที่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นยุคประชาธิปไตย หรือยุคเผด็จการ อยากจะเห็นจาก "พลเมือง"

อ่านข่าว : วันเด็ก 13 ม.ค. "เด็ก" นั่ง MRT ฟรี 4 สาย-ขึ้นรถเมล์ฟรีตลอดวัน

ปี 2562 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากการเลือกตั้ง แต่ถูกตั้งคำถามว่ายังมีอิทธิพล หรือยังอยู่ภายใต้เงาของ คสช. ทั้งกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 บุคคลในคณะรัฐมนตรี และยุทธศาสตร์ชาติ

ในปี 2567 คำขวัญจาก "นายกฯ นิด" นายเศรษฐา มีความน่าสนใจ เพราะ "รัฐบาล" มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คำขวัญจึงสะท้อนบริบททางการเมือง ตัวตนของนายกรัฐมนตรีที่เปิดรับค่านิยมสากล เน้นประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ความแตกต่าง ความคิดสร้างสรรค์

อ่านข่าว : ปักหมุด เที่ยววันเด็กแห่งชาติ 2567 สวนสัตว์-อุทยานเข้าฟรี "กองทัพรถถัง-ไดโนเสาร์"

"มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์" มุ่งเปิดกว้างทางความคิดที่จะนำไปสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่บริบททางการเมือง ณ วันนี้ สังคมยังมีการแบ่งขั้ว จึงมีประโยค "เคารพความแตกต่าง" ทั้งเชิงนิติสังคม เพศสภาพ ความหลากหลายทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเมื่อย้อนดูคำขวัญในอดีตแทบไม่ได้พูดถึงความแตกต่าง แต่เน้นเรื่องมีวินัย ใฝ่ศึกษา เป็นพลเมืองดี เช่นเดียวกับ "ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย" ที่ถูกขับเคลื่อนในช่วงที่สังคมผ่อนคลายจากอำนาจเผด็จการยุค คสช.

วันนี้สังคมไทยมีพลวัตและความหลากหลายพอสมควร ต้องให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจและยอมรับสิ่งเหล่านี้ เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน ทำให้ระบบคิดในสังคมเปลี่ยนไปด้วย

รศ.ดร.ยุทธพร วิเคราะห์คำขวัญวันเด็กจากนายเศรษฐา สะท้อนตัวตน ทัศนคติ ค่านิยมความเชื่อของนายกรัฐมนตรีที่เติบโตจากภาคธุรกิจเอกชน ปูมหลังไม่ได้สัมผัสระบบความเป็นราชการ จึงไม่ได้ยึดคำว่า ระเบียบวินัย หรือทำตามกฎกติกาที่รัฐวางไว้ แต่เน้นเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ เป็นหัวใจหลักของการบริหารภาคเอกชน

อ่านข่าว :  เตือน "วันเด็ก" ฝุ่น PM2.5 ยังสูง แนะเช็กค่าฝุ่น-สวมแมสก์

คำขวัญวันเด็ก ฉายภาพแต่ละยุคของ "ไทย"

เมื่อย้อนดูคำขวัญวันเด็ก จะฉายภาพบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และปัญหาบ้านเมืองแต่ละยุคสมัย เช่น ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2502-2506 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า" คำขวัญจะเป็นไปตามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการ ทั้งรักความก้าวหน้า รักความสะอาด อยู่ในระเบียบวินัย ประหยัด และขยันหมั่นเพียร, ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี 2524 "เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม" หลังเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปี 2523

อุดมการณ์นายกฯ ส่งผ่าน "คำขวัญ"

  • นายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นทหารสูง อยู่ในช่วงการปกครองแบบเผด็จการ หรือกึ่งประชาธิบไตย ลักษณะคำขวัญจะเป็น "คำสั่ง" เช่น จอมพล ป. "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนร่วม" และจอมพลสฤษดิ์ "เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า"
  • นายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม หรือนิยมความเป็นไทย เน้นเรื่องอุดมการณ์ความจงรักภักดี เช่น นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ปี 2518 "เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจพลังสร้างความสามัคคี" ยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 2519 "เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดีมีวินัยเสียแต่บัดนี้" และนายอานันท์ ปันยารชุน ปี 2535 "สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม"
  • นายกรัฐมนตรีพลเรือน อดีตข้าราชการ หรือนักการเมืองอาชีพ ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมด้วย เช่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปี 2520 "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย" นายบรรหาร ศิลปอาชา ปี 2539 "มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด"
  • นายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และเคยเป็นนักธุรกิจ ซึ่งพยายามนำไทยสู่สังคมสมัยใหม่ เชื่อมต่อการเป็นพลเมืองโลก ค่านิยมระดับสากล และเปิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร ปี 2545 "เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2555 "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" และนายเศรษฐา ปี 2567 "มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย"

ย้อน 25 ปี "คำขวัญ" เน้นสมานฉันท์ สู่เคารพความแตกต่าง

นายชวน หลีกภัย กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความไม่มีธรรมมาภิบาลของภาครัฐ และภาคธุรกิจในไทย นำไปสู่คำขวัญปี 2541 "ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย"

นายชวน หลีกภัย

นายชวน หลีกภัย

นายชวน หลีกภัย

นายทักษิณ ชินวัตร จากนักธุรกิจสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2545 ขณะนั้นบริบททางการเมืองมีความเป็นประชาธิบไตยมากขึ้น แนวคิดของผู้คนในสังคม หรืออุดมการณ์ความคิดของนายกรัฐมนตรี มีความเป็น "เสรีนิยม" และเชื่อมโยงยุคโลกาภิวัฒน์ สะท้อนผ่านคำขวัญ ปี 2546 "เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี"

นายทักษิณ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมให้คำขวัญปี 2550 "มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข" หลังเกิดวิกฤตทางการเมืองปี 2548-2549 ยุคที่เกิดคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ จนกระทั่ง พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ทำรัฐประหารปี 2549

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุคของนายกรัฐมนตรีคนรุ่นใหม่ เน้นสร้างความสามัคคี มีคุณธรรม ในช่วงที่มีความแตกแยกทางการเมืองค่อนข้างสูง โดยให้คำขวัญปี 2552 "ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีทางเดินคล้ายกับนายทักษิณผู้เป็นพี่ชาย จากนักธุรกิจก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย คำขวัญที่มอบให้เป็นภาพสู่อนาคตและสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ปี 2555 "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" และปี 2556 ที่ไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ปี 2557 เป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและการแบ่งฝ่าย คำขวัญที่มอบให้จึงเน้นก้าวข้ามปัญหา นำสังคมไทยสู่ยุคอนาคต เช่น ปี 2559 "เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต" และปี 2561 "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยุคนายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคธุรกิจเอกชน คำขวัญในปี 2567 จึงเน้นเปิดกว้างความคิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างประชาธิปไตย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมธนารักษ์ทำ "เหรียญที่ระลึกวันเด็ก" สะท้อนวัยแห่งจินตนาการ 

วันเด็กปีนี้ "ไดโนเสาร์" ย้ายไปโชว์สนามไทย-ญี่ปุ่น หลังไม่เข้าธีมทำเนียบ 

วันเด็กแห่งชาติ 2567 อว.จัดงาน "เด็กช่างคิด วิทย์สร้างฝัน" 12-13 ม.ค. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง