วันนี้ (12 ม.ค.2567) ธิดา ลิอาร์ด และคณะ เปิดเผยว่า คณะสำรวจร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่สำรวจแหล่งรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์น้ำตกตาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เพื่อสำรวจและศึกษารอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์เบื้องต้น เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
การสำรวจในครั้งนี้ ได้ค้นพบรอยตีนเพิ่มเติม จำนวน 5 แนว ประกอบด้วยแนวทางเดินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 แนว แนวทางเดินของสัตว์ขนาดเล็ก จำนวน 2 แนว และแนวทางเดินของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอาร์โคซอร์ จำนวน 1 แนว

ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
แนวทางเดินของกลุ่มอาร์โคซอร์ในพื้นที่นี้เป็นแนวทางเดินที่น่าสนใจที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏบนหินชัดเจน ทั้งนิ้ว กรงเล็บ ฝ่าตีนหน้าและหลัง มีความแตกต่างจากรอยตีนที่พบบริเวณบ้านนาพอสอง (ผารอยตีนอาร์โคซอร์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และมีลักษณะเฉพาะที่ยังไม่เคยค้นพบที่ใดในประเทศไทย คาดว่าเป็นรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของประเทศไทย

ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวเป็นลำห้วยที่มีน้ำหลากในช่วงฤดูฝน เสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยธรรมชาติ จึงควรเร่งสำรวจและศึกษาวิจัยในรายละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญทั้งในด้านบรรพชีวินวิทยา ธรณีวิทยา รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องที่ โดยกรมทรัพยากรธรณีจะประสานหน่วยงานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป

ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
ภาพ : อดุลย์วิทย์ กาวีระ
สำหรับแหล่งรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์น้ำตกตาดใหญ่ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2566 เดิมค้นพบเฉพาะรอยตีนเป็นแนวทางเดินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 แนว พบอยู่ในชั้นหินโคลน ตอนล่างของหมวดหินห้วยหินลาด อายุประมาณ 225 - 220 ล้านปีก่อน หรือยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (Late Triassic) ซึ่งถือว่าเป็นรอยตีนสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียเท่าที่ค้นพบในตอนนี้