ผ่านมาแล้ว 22 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2545 ที่ไทย มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันว่า “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ”หรือ “บัตรทอง” ระบบหลักประกันสุขภาพ ดูแลสุขภาพประชาชนทั่วไป ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต และรักษาครอบคลุมตั้งแต่อาการป่วยโรคพื้นฐานจนถึงโรคร้ายแรง แต่จำกัดการรักษาในพื้นที่ หรือส่งต่อสูงสุดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ในจังหวัด
โดยยุคแรกของการก่อตั้งจากกลุ่มแพทย์ชนบทโดย "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำแนวคิด การประกันสุขภาพ แบบเหมาจ่ายรายหัว เสนอต่อพรรคการเมืองในยุคนั้นคือ พรรคประชาธิปัตย์และไทยรักไทย
ยุครัฐบาลทักษิณ
แต่ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ขานรับ และทำเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง คือพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ "ทักษิณ ชินวัตร" ชนะการเลือกตั้ง และตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าไทยรักไทยจะถูกยุบพรรค มาถึงยุคพรรคพลังประชาชน และทอดยาวมาจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
หากยังจำกันได้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถูกปฎิเสธจากชาวบ้าน หลังเข้ารับการรักษาแล้วเกิดเหตุการณ์เสียชีวิต ทำให้เกิดวาทกรรม 30 บาท "ตายทุกโรคมาแล้ว" แต่โครงการนี้ยังคงเดินหน้าและเติบโตมาตามลำดับ แม้ว่าระหว่างทางจะเกิดปัญหาและการตั้งคำถามต่างๆมากมาย
หากไล่เลียงตั้งแต่ปี 2545 กำเนิดสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยุค นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข เริ่มมีแจกบัตรทอง โดยประชาชนสามารถนำบัตรดังกล่าวไปยื่นขอรับการรักตามสถานพยาบาลในพื้นที่
โดยในปี 2546 ได้จัดสรรงบประมาณเหมาค่ารายหัวเริ่มต้นคนละ 1,202.40 บาท ให้การดูแลรักษาโรคพื้นฐานก่อน ไม่ว่าจะเป็นการคลอดบุตร 2 ครั้ง และการบริการอุดฟันและถอนฟัน
ต่อมาปี 2549 เกิดการรัฐประหารโดยรัฐบาลคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย (คปค.) พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข มีการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา
หรือการทำซีแอลยา เพื่อความจำเป็นต่อการรักษาชีวิต เนื่องจากยามีราคาแพง ได้แก่ ในกลุ่มยารักษาโรคเอดส์ ยาละลายลิ่มเลือดใช้รักษาและป้องกันการอุดตันในเส้นเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง
และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในโรคที่อาจส่งกระทบ ทำให้ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล เกิดการล้างไตผ่านหน้าท้อง ถือเป็นครั้งแรกที่ผู่ป่วยโรคไต สามารถล้างไตผ่านหน้าท้องที่บ้านโดยโรงพยาบาลจัดส่งน้ำยาล้างถึงบ้าน
วิวัฒนาการจาก30บาทรักษาทุกโรค สู่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที
มายุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ปี 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ เป็น รมว.สาธารณสุข ได้เปลี่ยนคำเรียก จาก 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นรักษาฟรี 48 ล้านคนใช้บัตรประชาชนใบเดียว แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเนื่องจาก 30 บาทรักษาทุกโรค ติดลมบนจนยากที่จะเปลี่ยนคำเรียกเป็นอย่างอื่น
ผลัดใบเข้าสู่ยุครัฐบาลเพื่อไทย ปี 2557 สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวได้ขยับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด มากถึงร้อยละ 30 เป็นคนละ 2,956 บาท ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดของเด็กลดลง
ปี 2558-2560 เข้าสู่ยุครัฐบาลคสช.สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข หลักประกันสุขภาพถูกยกระดับ ยกเลิกการเก็บ 30 บาท กับผู้มาใช้บริการ
และมีการขยายสิทธิรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรี (UCEP) 72 ชม. ได้ทุกสิทธิ ทุกที ห้ามปฏิเสธการรักษา เกิดนิยายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย 6 กลุ่มอาการกลุ่มอาการวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรี
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย
สิทธิรักษาพยาบาลเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน
กระทั่งเข้าสู่ปีรัฐบาลลุงตู่ ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ ปี 2563-2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.สาธารณสุข ในช่วงดังกล่าวเกิดปัญหาสถานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
รัฐบาลลุงตู่
งบประมาณของหลักประกันสุขภาพ ได้ถูกนำมาใช้ส่งเสริมป้องกันโรค ทั้งจัดหาวัคซีน , ATK แจกจ่าย
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ เกิดการฟอกไตผ่านเครื่อง APD ที่มอบเครื่องให้ผู้ป่วยใช้บริการฟอกในตอนกลางคืน ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน และเกิดโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ ,การมอบผ้าอ้อมและแผ่นรอง ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น
จากบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ปี 2567 สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มีการพัฒนารูปแบบ การให้บริการแนวใหม่ คือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ นำร่องใน 4 จังหวัด ร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ และนราธิวาส โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบางทุกระดับ ในจังหวัดนั้น ๆ และงบประมาณรายหัว ก็ได้รับปรับขึ้นเป็น งบรายหัวต่อคน 3,472.24 บาท
โครงการดังกล่าวเปิดตัวนำร่องไปแล้วครั้งแรกที่ รพ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ พร้อมยังประกาศ ว่า 30 บาทรักษาทุกที่ จะสร้างระบบสาธารณสุขของไทยให้ดียิ่งขึ้น มีบริการที่ดี ทั่วถึง รวดเร็ว และทันสมัยมากยิ่งขึ้น
และวันที่ 12-13 ม.ค.นี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข จะนำสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามประเมินผลหลังเดินหน้าโครงการมาแล้ว 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบว่าประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการนี้จริงหรือไม่
ท่ามกลางข้อวิตกกังวล ของผู้บริหารโรงพยาบาลส่วนใหญ่ว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่าย การเปิดและปิดสิทธิ์ของผู้มารับบริการ เนื่องจากปัญหาการขาดทุน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 30 บาทรักษาทุกที่ สะดวกขึ้นแต่ยังมีข้อจำกัด