ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สว.ชี้รัฐบาลรู้ “เงินกู้ 5 แสนล้าน” ทำดิจิทัลวอลเล็ต ไปต่อไม่ได้ แค่อยากลงให้สวย

การเมือง
9 ม.ค. 67
12:35
504
Logo Thai PBS
สว.ชี้รัฐบาลรู้ “เงินกู้ 5 แสนล้าน” ทำดิจิทัลวอลเล็ต ไปต่อไม่ได้ แค่อยากลงให้สวย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สว.เชื่อรัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไปต่อได้ยาก แต่ต้องมีทางลง ให้สง่างาม และเคยมีคนไปลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ เตือนทบทวน ยอมรับความจริงเหตุกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดว่าทำได้ ชี้ประเทศไทยไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย

วันนี้ (9 ม.ค.2567) นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาเปิดเผยความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ว่า ที่ผ่านมา

การออก พ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสน ล้านบาท ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ครั้งนี้ ก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

อ่านข่าว : เลขาฯ กฤษฎีกา ไม่ได้บอกไฟเขียวกู้ 5 แสนล้าน ชี้แค่แนะรัฐบาล

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ได้เป็นอันดับแรก ก็คือเรื่องของประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้เดินสายไปเชิญชวนทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่มาบอกคนในประเทศว่า เรากำลังวิกฤต

นายตวงกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ช่วงปีใหม่ ที่มีการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนกลับภูมิลำเนา พบว่ามีความคึกคักเป็นอย่างมาก สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ว่า ไม่ใช่ช่วงวิกฤตของประเทศ ไม่เหมือนช่วงสถานการณ์โควิด 19 หรือช่วงภาวะสงคราม และตนมองว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีอื่น

มันยากที่จะบอกประเทศที่ปกติให้วิกฤต ถามหน่อยว่าจะบอกว่า ประเทศเราวิกฤตเรื่องอะไร วิกฤต เศรษฐกิจหรือการเมือง เพราะหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ผมว่ามันดาวน์ลง เป็นธรรมชาติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เราอยู่ในภาวะปกติธรรมดา เหมือนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน เรากำลังเป็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ถ้าเราจะบอกว่า ประชาชนเดือดร้อน ลำบาก เราจะใช้เงินเข้าไปให้เกิดการหมุนของเงินเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายยากพอสมควร

นายตวงกล่าวต่อว่า การตีความตามความเห็นกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นการบอกตรง ๆ ซึ่งตนมองว่ากฤษฎีกาฉลาด ขอให้ย้อนกลับไปดูความเห็นของกฤษฎีกาในอดีต ในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่า โครงการไหนทำไม่ได้ แม้แต่การเขียนจดหมาย กฤษฎีกาก็จะไม่บอกว่าผิดหรือถูก อยู่ที่คนบริหารราชการแผ่นดินว่า จะใช้วิจารณญาณอย่างไร จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่า ให้ยอมรับความจริง และทบทวน

อ่านข่าว : คิกออฟ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท " กฤษฎีกาไฟเขียวให้กู้ 5 แสนล้าน

นายตวง ยังยกตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กฤษฎี ก็ไม่ได้บอกว่าผิด ทั้งนี้หากรัฐบาลนายเศรษฐาจะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าเรื่องจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลให้วินิจฉัย ทั้งฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน และศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว

รัฐบาลอาจจะรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นเรื่องยาก และอาจจะมีธง หรืออาจเป็นข้ออ้างเพื่อเดินหน้าต่อในทางการเมือง เพราะทุกเรื่องต้องมีทางลง เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะลงอย่างไร ให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรีและสง่างาม ถ้าลงไม่ได้ ในอดีตมีทางที่คนเคยลงคือ ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบก็รู้อยู่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง