ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สปสช.เตรียมประเมิน 30 บาท รักษาทุกที่ รายสัปดาห์เพื่ออุดช่องโหว่

สังคม
6 ม.ค. 67
15:24
1,527
Logo Thai PBS
สปสช.เตรียมประเมิน 30 บาท รักษาทุกที่ รายสัปดาห์เพื่ออุดช่องโหว่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รพ.นำร่อง “30 บาท รักษาทุกที่ ”เชื่อประชาชนได้ประโยชน์ แต่ห่วงระบบเบิกจ่าย จ้างนักคอมพิวเตอร์ติดตามข้อมูลแบบข้ามคืน ขณะที่สปสช. เตรียมประเมินแบบรายสัปดาห์ เพื่ออุดช่วงว่างระบบ

วันนี้ (6 ม.ค.2567) นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงการ Kick off “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 ม.ค.2567 ซึ่งร้อยเอ็ด เป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่นำร่องคือ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ นราธิวาส ว่า

ขณะนี้มีความพร้อมของระบบแล้ว เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะปกติประชาชนมารับบริการของโรงพยาบาล เฉลี่ยวันละ 3,500 คน คน ส่วนใหญ่มีทั้งป่วยโรคทั่วไป และเรื้อรัง ซึ่งขั้นตอนการรับบริการ 30 บาท รักษาทุกที่ ไม่ยุ่งยาก

โดยใช้ขั้นตอนเดิมเหมือนมารับบริการปกติ คือ ผู้ป่วยสามารถนำบัตรประชาชนมาเสียบที่ตู้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิ ก่อนทำการรักษา

ทั้งนี้โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ได้หารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงความพร้อมและขั้นตอนต่าง ๆ

เดิม ทาง สปสช.อยากให้ใช้ระบบเดียวกับสวัสดิการข้าราชการ คือ การเสียบบัตรหลังรักษาพยาบาลเสร็จ แต่มองว่ายุ่งยาก และสำหรับคนไข้ที่ไม่มียา ก็ต้องมารอเสียบบัตรเพื่อปิดสิทธิการรักษา หากกลับบ้านก่อน ไม่มาเสียบบัตร ไม่มีการตรวจสอบให้ดี อาจทำให้หลงลืมเรื่องการปิดสิทธิรักษา ส่งผลให้ไม่สามารถนำยอดการเข้ามารักษาพยาบาลของประชาชน และอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายในภายหลัง

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด

นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมระบบหลังบ้าน ในการตรวจสอบสิทธิและการใช้บริการ ทางโรงพยาบาลได้จ้างบุคลากร ทำหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์หลังบ้านโดยเฉพาะ เพราะถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ต้องมีการตรวจสอบระบบแบบวันต่อวัน ปิดระบบสิทธิตอนเที่ยงคืน

หากไม่มีการตรวจในจุดนี้ เกรงว่าอาจส่งผลให้โรงพยาบาลขาดทุนได้ ส่วนการให้บริการข้ามสิทธิ เช่น ในระบบโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลระดับอำเภอ เชื่อว่าคงไม่มีใครมาใช้บริการโรงพยาบาลจังหวัดมากนัก หากเดิมมีระบบการรักษาที่ดีอยู่แล้วเพราะการมาโรงพยาบาลจังหวัด หมายความว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่อาจเพิ่มมากขึ้น

นพ.ชาญชัย ยังมองว่า ตรงกันข้ามหากคนเจ็บป่วยเล็กน้อย ก็อาจหันไปใช้บริการที่คลินิกแทน เพื่อความสะดวดรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลารอนานในโรงพยาบาลจังหวัดนานนับชั่วโมง ส่วนในกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือ เจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถใช้บริการรักษาได้อยู่แล้ว

ระบบบริการแบบนี้เชื่อว่า ประชาชนจะได้รับความสะดวก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงงาน และคนทำงานในโรงงานจำนวนมาก ที่ จ.ร้อยเอ็ด มีคนจาก จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ มารักษา ซึ่งไม่ต้องเดินทางไกลไป จ.ขอนแก่น ที่อาจเดินทางไกลกว่า

จ.แพร่ ลงทะเบียน"หมอพร้อม"เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ

ทางด้าน นพ.สุวรรณ เพ็ชรรุ่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อม 30 บาทรักษาทุกที่ มีหน่วยบริการสมัครเข้า "หมอพร้อมสเตชั่น" ตามนโยบายแล้ว 88 แห่ง แบ่งเป็น หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 8 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัด อปท. 44 แห่ง, ร้านยา และ LAB 22 แห่ง , คลินิก 7 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง มีการยืนยันตัวตัวตน Health ID ผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมแล้ว 117,175 คน

สำหรับคนที่ยืนยันตัวตน หากมีแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม จะมีข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาในหมอพร้อม สามารถจองคิวเข้ารับบริการ ให้บริการการแพทย์ทางไกล ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การเปิดใช้ 30 บาท รักษาทุกที่ จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพอื่น ครอบคลุมและสะดวกมากขึ้น ทั้งของภาคเอกชน คลินิกเวชกรรม ร้านขายยา บริการกายภาพบำบัด นวดแผนไทย

ความหลากหลายของบริการเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนประชาชนที่จะมาใช้บริการในโรงพยาบาลที่ปกติ มีมากประมาณร้อยละ 70 ลดลง

ส่วนการเชื่อมระบบข้อมูลในการใช้บัตรประชาชน ใบเดียวรักษาทุกที่นั้น ไม่มีปัญหา เนื่องจากได้วางหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของระบบคอมพิวเตอร์ไว้แล้ว ไม่ปิดกั้นว่าต้องใช้แอปฯ หมอพร้อมเท่านั้น และไม่ได้กำหนดต้องใช้ระบบใด เพียงแต่ขอให้มีหลักเกณฑ์ตามที่ สปสช.กำหนด เพื่อง่ายแก่การตรวจสอบการเบิกจ่าย

ประเมินผล 30 รักษาทุกที่ตั้งแต่สัปดาห์แรก 

ทั้งนี้ การประเมินผลของการใช้บัตรประชาชนรักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง จะติดตามตั้งแต่ในสัปดาห์แรก จากนั้นติดตามทุกเดือนเพื่อให้ทราบถึงปัญหาเพื่อการแก้ไขต่อไป

และไม่กระทบต่อการเดินหน้าโครงการฯ ในเฟสที่ 2 ที่จะทำใน 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และ สระแก้ว ในเดือน มี.ค.2567 และ เฟส 3 ในอีก 4 เขตสุขภาพ ในเดือน เม.ย.2567

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เฟส 2 บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่เพิ่ม 8 จังหวัด มี.ค.67 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง