ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัปเดต "แร้งดำหิมาลัย" ไม่บาดเจ็บแต่อ่อนแรง เร่งสร้างกล้ามเนื้อ

สิ่งแวดล้อม
4 ม.ค. 67
10:37
1,433
Logo Thai PBS
อัปเดต "แร้งดำหิมาลัย" ไม่บาดเจ็บแต่อ่อนแรง เร่งสร้างกล้ามเนื้อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์ สบอ.12 รับ "น้องช้าง" แร้งดำหิมาลัย อ่อนแรงบินตก จ.กำแพงเพชร มาดูแลฟื้นฟูร่างกาย ไม่พบอาการบาดเจ็บที่ปีกและขา คาดอ่อนแรงระหว่างบินข้ามประเทศ เร่งอัด "เนื้อหมู" สร้างกล้ามเนื้อ และส่งให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

วันนี้ (4 ม.ค.2567) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อัปเดตว่า กรณีอาสาสมัครกู้ภัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เทศบาล ต.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร พบนกไม่ทราบชนิดขนาดใหญ่บินหลงมาอยู่บนถนนทางเข้าเทศบาล จึงนำกลับมาที่บ้าน และได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับไปดูแลพบเป็นแร้งดำหิมาลัย นกอพยพหายาก 

อ่านข่าว ชัดแล้ว! "แร้งดำหิมาลัย" นกหายากใกล้สูญพันธุ์ ตกที่กำแพงเพชร

สัตวแพทย์หญิงพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากรับมอบแร้งดำหิมาลัยมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.) พบว่านกมีอาการอ่อนแรงจากการเดินทางไกล ทำให้เป็นสาเหตุการร่วงที่ จ.กำแพงเพชร ตรวจร่างกายปีก และขาไม่พบอาการบาดเจ็บ จึงสันนิษฐานว่าใช้พลังงานมากระหว่างอพยพจึงเกิดอาการอ่อนแรง

สัตวแพทย์หญิงพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้ให้แร้งดำหิมาลัยกินอาหาร โดยให้กินเนื้อหมูวันละ 2 มื้อประมาณเกือบ 1.5 กก.ต่อวัน เพื่อเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ตอนนี้มีน้ำหนัก 7.1 กก.ไม่สามารถระบุเพศได้ แต่ยังเป็นแร้งดำหิมาลัยตัวไม่เต็มวัย โดยพบว่าแร้งตัวนี้พยายามกระพือปีกและพยายามจะบินขึ้น แต่ยังบินความสูงเพียง 1 เมตรเท่านั้น 

น้องช้าง ไม่ตื่นคน ตอบสนองการกินอาหารได้ดี พยายามกระพือปีก แต่บินไม่ถึง 1 เมตร ตากแดดวันละ 1-2 ชม.และเน้นกินอาหารให้สร้างกล้ามเนื้อ คาดว่าถ้า 3-4 วันนี้อาการดีจะนำส่งให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ที่มก.เพื่อฟื้นฟูและติดแท็กและปล่อยคืนธรรมชาติ
แร้งดำหิมาลัย บินพลัดหลงตกที่จ.กำแพงเพชร ถึงมือสัตวแพทย์ สบอ.12 จ.นครสวรรค์ (ภาพกรมอุทยานฯ)

แร้งดำหิมาลัย บินพลัดหลงตกที่จ.กำแพงเพชร ถึงมือสัตวแพทย์ สบอ.12 จ.นครสวรรค์ (ภาพกรมอุทยานฯ)

แร้งดำหิมาลัย บินพลัดหลงตกที่จ.กำแพงเพชร ถึงมือสัตวแพทย์ สบอ.12 จ.นครสวรรค์ (ภาพกรมอุทยานฯ)

ตั้งชื่อ "น้องช้าง" แร้งดำหิมาลัย 

สำหรับชื่อที่เรียกว่า "น้องช้าง" เพราะหัวนกแร้งดำหิมาลัย จะไม่มีขน เหมือนกับตัวละครในวรรณคดี "ขุนช้าง" จึงตั้งชื่อเล่นว่าน้องช้าง แต่พอเรียกก็ไม่ได้หันมาหา ทั้งนี้คาดว่าอย่างเร็วสุดวันที่ 8-9 ม.ค.นี้ อาจจะนำตัวส่งมาที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่เป็นจุดที่ดูแลนกแร้งอพยพที่บินพลัดหลงตกในเมืองไทยมาหลายตัวแล้ว 

สำหรับ "แร้งดำหิมาลัย" ซึ่งเป็นนกล่าเหยื่อจำพวกแร้งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 102-104 เซนติเมตร ความยาวปีกจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง 2.9-3 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7-12.5 กิโลกรัม

ถือเป็นแร้งที่ใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ทั่วตัวมีขนสีดำ ตรงบริเวณหัวถึงคอมีขนน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย บริเวณรอบ ๆ คอมีขนขึ้นฟูคล้ายพวงมาลัย นิ้วสีออกขาว ตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยมีลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนกว่า

แร้งดำหิมาลัย ไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย นอกจากอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีเท่านั้น ทั้งนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปจนถึงภูมิภาคไซบีเรีย เอเชียกลาง จีน อินเดีย จะอพยพมาประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หายาก และมีปริมาณน้อยมาก

ประเทศไทย แร้งดำหิมาลัย เป็นนกอพยพหายาก จะอพยพเข้ามาในฤดูหนาวบางปี จำนวน 1-2 ตัวเท่านั้น โดยแร้งจะร่อนมากับลมหนาวตั้งแต่เดือนธ.ค.ของทุกปีเคยมีรายงานพบบินพลัดหลงที่จ.เชียงใหม่ เพชรบุรี นครราชสีมา ระยองและจันทบุรี ทั้งนี้หากท่านใดพบเห็นแจ้งได้ที่สายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง