วันนี้ (2 ม.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานคดีเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงกลางห้างสรรพสินค้า เพื่อส่งอัยการสั่งฟ้องได้ทัน จนกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่สามารถควบคุมตัวเยาวชนได้ตามกฎหมาย ว่า เบื้องต้นเด็กดังกล่าวจะเข้าสถานบำบัดต่อ เพื่อไปดูแลรักษาทางด้านจิตใจ ซึ่งยังอยู่ในการควบคุมของรัฐเช่นเดิม ไม่ได้เป็นการยื้อเวลาแต่อย่างไร เพราะเด็กคนดังกล่าวมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ จึงต้องให้การดูแลด้วย
ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า ภายหลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กถูกส่งตัวไปที่สถานพินิจฯ ซึ่งการประเมินเบื้องต้นพบว่าป่วยทางจิต จึงส่งต่อไปที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้รับไว้เป็นผู้ป่วยในมาจนถึงปัจจุบัน โดยการรักษาจะใช้รูปแบบคณะกรรมการกลุ่มสหวิชาชีพ ทั้งจิตแพทย์เด็ก จิตแพทย์วัยรุ่น พยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวช ด้านจิตบำบัด นักสงคมสงเคราะห์ เพื่อร่วมกันบำบัดรักษาและประเมินอาการร่วมกัน
ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นคนไข้ เป็นผู้ป่วยในของสถาบันกัลยาฯ อยู่
ส่วนประเด็นกระบวนการยุติธรรมนั้น นายประยุทธ กล่าวว่า การสอบสวนบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 14 ระบุชัดเจนว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กมีอาการป่วยทางจิต พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวไปรักษา และงดการสอบสวนจนกว่าจะหายจากอาการป่วยและสามารถต่อสู้ทางคดีได้ ซึ่งหลักของกระบวนการยุติธรรม จะไม่ขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมในขณะที่ผู้ต้องหา หรือจำเลย ยังมีอาการวิกลจริตอยู่ โดยใช้ทั้งกรณีเด็กทั้งผู้ใหญ่
หากมีอาการป่วยทางจิต วิกลจริต กระบวนการยุติธรรมจะต้องหยุดลง ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน หรือชั้นการพิจารณาของศาล จะเริ่มสอบสวนใหม่ได้ต่อเมื่อเขาหายจากอาการป่วย และต่อสู้คดีได้
ส่งต่อเด็กรักษาต่อที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องนี้มาที่พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2566 ปรากฏว่ามีรายงานการประชุมของแพทย์ และสหวิชาชีพ 3 ครั้ง ยืนยันว่า เด็กมีอาการป่วย แสดงว่ากระบวนการที่ทำมาไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ซึ่งอัยการไม่ได้ดูรายละเอียดในสำนวน แต่ต้องรอให้เด็กหายป่วยก่อน
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดว่าคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน ต้องสอบสวนและส่งให้อัยการฟ้องภายใน 30 วัน ถ้าไม่มีประเด็นป่วยจิตเวช หาก 30 วันไม่แล้วเสร็จ และเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่โทษหนัก สามารถไปขอผัดฟ้องต่อศาลได้ 4 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน รวม 60 วัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา อัยการฟ้องไม่ได้ เพราะเด็กยังป่วยอยู่ และสถานพินิจฯ หมดอำนาจควบคุม แต่ยังมี พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่ให้อำนาจแพทย์และสหวิชาชีพ รับตัวเด็กไปรักษาเพื่อให้หายป่วยและต่อสู้คดีได้ รวมทั้งไม่เป็นอันตรายต่อสังคมและคนรอบข้าง ซึ่งเมื่อวานนี้ (1 ม.ค.) ผู้ปกครองเด็กเข้าใจ และให้เด็กอยู่ในการรักษาต่อ
นายประยุทธ ยืนยันว่า แม้เด็กจะมีอาการป่วย แต่อยู่ในสถานะผู้ต้องหา และต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งการทำหน้าที่ของกลุ่มสหวิชาชีพไม่เพียงทำให้เด็กหายป่วย แต่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยของการก่อเหตุยิงในห้าง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในสังคม เป็นกระบวนการนิติจิตเวชที่ต้องทำคู่ขนาน
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ส่วนในอนาคตเมื่อเด็กหายป่วยแล้วและอาจไม่ได้อยู่ในสถานะเป็นเยาวชนแล้ว ก็เป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาว่าอาจเบนประเด็นในการพิจารณาคดีแบบผู้ใหญ่ได้ แต่โดยพื้นฐานอยู่ที่เขากระทำผิดขณะเป็นเด็ก
นายประยุทธ กล่าวว่า กรณีผู้ที่สูญเสีย การเยียวยาความเสียหายทางแพ่งไม่ได้แยกว่าผู้กระทำผิดเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ โดยสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนการดำเนินคดีกับเด็กในเคสนี้ที่ป่วยทางจิตด้วย เป็นกระบวนการสากลว่าพฤติการณ์ป่วยขณะก่อเหตุ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาลนำมาพิจารณาแม้ในอนาคตจะหายดีแล้ว ก็อาจเป็นเหตุลดหย่อนผ่อนโทษได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่งตัวเด็ก 14 ปียิงในห้าง รักษาต่อ หลังอัยการตีกลับสำนวนให้ ตร.
สุดยื้อ! หญิงบาดเจ็บถูกยิงในพารากอน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน
แจ้ง 5 ข้อหา! คดีเด็กชาย 14 ปียิงในพารากอน ส่งตัวศาลเยาวชน
อัยการส่งคืนสำนวน เด็ก15 ปี คดียิงพารากอน ชี้ไม่ชอบด้วย กม.