วันนี้ (26 ธ.ค.2566) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสนามหลวง มีคำพิพากษาคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหากระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.
โดยศาลพิเคราะห์แล้วให้ยกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับในข้อหาตามมาตรา 157 โดยศาลได้ไต่สวน และใช้ดุลยพินิจแล้วชี้ว่าในคำร้องดังกล่าวเป็นคนละประเด็น กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาของศาลปกครองและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่มีผลผูกพันกัน
และตุลาการเสียงข้างมาก พิเคราะห์ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับนายถวิล
อ่านข่าว “วิษณุ” ชี้ช่อง “ยิ่งลักษณ์” กลับประเทศไทยเป็นคิวต่อไป
ขณะเดียวกันการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว ตั้งแต่สมัย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อีกทั้งการไต่สวนพบว่าไม่มีเจตนาสมคบคิดกันในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล
แม้จะเป็นการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 4 วัน การแต่งตั้งเพื่อให้ทันต่อการเสนอ ให้ ครม.ในขณะนั้นอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามปกติ ไม่พบพิรุธ ที่จะสอนให้เห็นถึงการทุจริตต่อหน้าที่ ที่จะเสนอให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น
อ่านข่าว
ศาลฯ ตัดสิน"ยิ่งลักษณ์" ย้ายเลขาฯ สมช. วันนี้
นายวิญญัติ ชาติมนตรี และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความประจำตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายวิญญัติ ชาติมนตรี และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความประจำตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอบคุณศาลฎีกา ที่พิจารณาจากเจตนา และถือว่าต้องเป็นกรณีศึกษาทางข้อกฎหมาย เพราะจะเห็นได้ชัดว่าศาลฎีกา ไม่ได้หยิบคำพิพากษาของศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วย เหตุผลว่าเป็นคนละกรณี
ส่วนหากอัยการจะมีการยื่นอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าเขาอุทธรณ์ในประเด็นใด แต่การจะยื่นอุทธรณ์ได้จะต้องผ่านด่านแรก คือการรับคำอุทธรณ์ ซึ่งเป็นมติจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
หากมีมติไม่รับ ก็ถือว่าคำพิพากษาวันนี้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้พูดคุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากนี้ก็จะโทรรายงานให้ทราบถึงผลคำพิพากษายกฟ้อง
อ่านข่าว