วันนี้ (24 ธ.ค.2566) ถือเป็นการเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" ครั้งแรกของไทย เพื่อเลือก "ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง" และ"ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน" ฝ่ายละ 7 คน บอร์ดชุดนี้จะเข้ามาดูแลสมาชิกที่เป็นสถานประกอบการกว่า 510,000 แห่ง และผู้ประกันตนกว่า 24.5 ล้านคน
บทบาทสำคัญของบอร์ดประกันสังคม คือ การเสนอความคิดเห็น ทั้งนโยบายและมาตรการ ออกกฎระเบียบ ตั้งแต่การดูแลสวัสดิการกองทุน ไปจนถึงการวางระเบียบการรับเงิน จ่ายเงิน จัดหาผลประโยชน์ และเก็บรักษาเงินของกองทุน ซึ่งปัจจุบันตัวเลขเงินสะสมของกองทุน ณ เดือน ก.ค.2566
มีเงินสะสมอยู่กว่า 2.37 ล้านล้านบาท รวมดอกผลการลงทุนเฉพาะเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ 31,940 ล้านบาท
ส่วนเงินสะสมกองทุนเงินทดแทน มีเงิน 76,470 ล้านบาท รวมดอกผลจากการลงทุน 1,247 ล้านบาท
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม วันที่ 24 ธ.ค.นี้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกโดยตรงซึ่งทำหน้าที่ดูแลกองทุนประกันสังคมที่มีเงินกว่า 2.3 ล้านล้านบาท
อ่าน : เหลืออีก 2 ชม.! ผู้ประกันตน-นายจ้าง ทยอยใช้สิทธิเลือกบอร์ด ปกส.
ที่ผ่านมาการเลือกบอร์ดประกันสังคม เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านสหภาพแรงงาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำให้กองทุนไม่มีความโปร่งใส และไม่มีการเพิ่มเงินชดเชยสิทธิและสวัสดิการ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนมากเท่าที่ควร ทั้งที่เงินกองทุนจำนวนมาก สวนทางกับสิทธิสุขภาพช่องทางอื่น ทั้ง สปสช. และ ข้าราชการ
ความคาดหวังของบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง คือ ความมั่นคงกองทุนที่พึ่งพาได้ เพราะในอนาคตจะมีผู้ที่ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพเพิ่มขึ้น จากเหตุที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว
เมื่อดูโครงสร้างอายุมีผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมกับ 40 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนประมาณ 8,000,000 คน หากครึ่งหนึ่งรับบำนาญชราภาพ เงินที่ต้องจ่ายจาก 24,000 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท ในช่วง 15-20 ปี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความมั่นคงในการลงทุนให้มากขึ้น
อ่าน : ปิดหีบเลือกตั้ง บอร์ด ปกส. ผู้ประกันตนใช้สิทธิไม่ถึง 20%