วันนี้ ( 19 ธ.ค. 2566)นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control) และดร.ปรีดา จาตุรพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แถลงสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ปี 2565 พบว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของกรมควบคุมโรค และบริษัทกลาง มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 17,379 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 26.6 คนต่อแสนประชากร และพบอัตราการเสียชีวิต 1 คน ใน 30 นาที
โดยช่วงอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 15 – 29 ปี และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากสุด และจากการเก็บข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้เสียชีวิตสวมหมวกกันน็อกแค่ร้อยละ 20
และพบว่าจ.ยะลามีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำสุดอยู่ที่ 12 .1 ต่อแสนประชากร และจังหวัดระยองที่อัตราการเสียชีวิตสูงสุดอัตรา 65.4 ต่อแสนประชากร ส่วนจังหวัดที่สามารถลดอุบัติเหตุทางถนนได้มากสุด คือ จ.นครนายก ร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2563
นพ.วิทยา กล่าวว่า ในปี 2570 ได้ตั้งเป้านโยบายความปลอดภัยทางถนนให้เหลืออัตราการเสียชีวิต12 คนต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน ส่วนในปี 2566 อุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลง และมีเพียง 3 ไตรมาส พบจำนวนผู้สียชีวิต 12,900 คน ขณะนี้เหลืออีก 2 สัปดาห์ จึงจะครบไตรมาส 4 และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มไม่น้อยกว่า 4,000 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุใน ปี 2565 และปี 2566 พบว่าไม่แตกต่างกัน
ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้น และมีผู้เสียชีวิต คือ การปล่อยให้มีการใช้ความเร็วในการขับขี่ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง , การบังคับใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เป็นแค่โทษปรับเท่านั้น และการยกเลิกใช้เบรคเอบีเอส หากแก้ไขได้ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุ
นพ.วิทยา ยังกล่าวว่า นโยบายของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการใช้การใช้สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขยายเวลาเปิดผับบาร์ 04.00 น. และมาตรการลดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสวนทางกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนดี มีสติ กับ คนที่เพิ่งเที่ยว ซึ่งมีอาการเมาและง่วงมาพบกัน นักเรียนไปโรงเรียน พระไปบิณฑบาตร คนรักสุขภาพ ออกไปวิ่ง ขี่จักรยานกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะไม่เกิดอุบัติเหตุ จึงได้หวังและรณรงค์ให้ คนดื่มไม่ขับ เมาไม่ขับ ใช้รถสาธารณะ พร้อมสนับสนุนนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งใบสั่งอิเล้กทรอกนิกส์ กล้อง CCTV มาใช้ และให้ตำรวจเข้มมาตรการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์