ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แยกวันประชุมสภาฯ-กมธ. ส่อเค้าเป็นหมันแก้ไม่ตก "สภาล่ม”

การเมือง
18 ธ.ค. 66
14:00
406
Logo Thai PBS
แยกวันประชุมสภาฯ-กมธ. ส่อเค้าเป็นหมันแก้ไม่ตก "สภาล่ม”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ควรคิดว่าองค์ประชุมสภาฯ ไม่ครบเป็นเรื่องปกติ หรือสภาล่มเป็นเรื่องเล็ก ครั้งหน้าค่อยแก้ตัวใหม่ ในเมื่อสภาล่มแต่ละครั้ง มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 8.2 ล้านบาท และคนจ่ายไม่ใช่สมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภา แต่เป็น “ประชาชน”

สภาล่มเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 วันประชุมสภาผู้แทนฯ นัดแรก ของสมัยประชุมสามัญครั้งที่ 2 ปี 2566 เรื่องวาระร่างแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภา

มี สส.แสดงตนในห้องประชุมมากถึง 332 คน แต่เมื่อถึงเวลาโหวตจริงในอีก 2 นาทีถัดมา กลับมีจำนวน สส.ลงมติเหลือเพียง 228 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

พรรคเพื่อไทยขยายผลเรื่องนี้ ซัดไปที่พรรคก้าวไกล มี สส.แสดงตนถึง 92 คน ก่อนโหวตเพียง 2 คน กระทั่งนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด อดีตรองหัวหน้าพรรค และ สส.พรรคเพื่อไทย เดือดถึงขั้นใช้คำพูดสรรพนามแทนตัวสมัยพ่อขุนฯ แถมไล่ให้ลาออก

อาจลืมไปว่า สมัยรัฐบาลชุดที่แล้วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายค้าน แกนนำหลายคน รวมทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคในขณะนั้น พูดชัดเจนว่าการรักษาองค์ประชุมเป็นเรื่องของพรรครัฐบาล และการไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมของฝ่ายค้าน เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง เมื่อไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลเสนอ หรือเห็นว่าจะเกิดผลเสียหายตามมา

เข้าทำนองขว้างงูไม่พ้นคอ ถูกวิพากษ์ว่าจุดยืนกลับไปกลับมา เช่นเดียวกับเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ตั้งท่าไม่เห็นด้วยกับร่างของพรรคก้าวไกล แม้นว่าในอดีต เคยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย มีการผลักดันแบบ “ลักหลับ” รวบหัวรวบหางอาศัยเสียงข้างมากผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปกำลังนอนหลับ เมื่อคืนรอยต่อ 31 ต.ค. ถึงเช้าวันที่ 1 พ.ย.2556

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเหตุการณ์สภาล่มบ่อยครั้งมาก เป็นผลจากการเล่นเกม “ลิงกินกล้วย” จนผู้คนระอา แม้ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ที่มีนายวัน มูหะหมัด นอร์ มะทา เป็นประธาน จะเพิ่งทำงานได้ไม่กี่เดือน สภาล่มถึง 2 ครั้งแล้ว นอกจากจะอ้างเป็นกลเกมการเมืองของพรรคก้าวไกล ยังปกป้องตนเองชัดเจนว่า เป็นความพลาดพลั้ง และรัฐบาลตั้งตัวไม่ทัน

ด้านหนึ่งอาจมั่นใจว่า สส.ฝ่ายรัฐบาลมีมากถึง 314 เสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่งไปกว่า 60 เสียงซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ก็บทเรียนให้เห็นเมื่อ 31 ส.ค.2566 ที่สภาล่มเป็นครั้งแรกแล้ว

เหตุการณ์สภาล่ม ถือเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อม ๆ กับสาระพัดมาตรการและแนวคิดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทั้งตักเตือน คาดโทษ กำชับวิป เปิดชื่อประจาน เสนอตัดเงินเดือน หรือแม้แต่เสนอให้รับเงินเฉพาะวันที่มาประชุม รวมทั้งเคยเสนอให้แจกรถกระบะ กับสส.ที่ไม่ขาดประชุมสภา แต่ก็ไม่ได้ผล

สาเหตุสำคัญ อยู่ที่เอกสิทธิ์การยื่นลาได้ตลอดของบรรดาผู้ทรงเกียรติ กับการกำหนดมาตรการหรือจะลงโทษใด ๆ ต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ทรงเกียรติเองก่อนทั้งสิ้น แล้วใครจะยอมตัดสิทธิพิเศษหรือให้ลงโทษตนเอง

ล่าสุดข้อเสนอใหม่จากนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และเป็นหนึ่งในวิปรัฐบาล ที่เตรียมเสนอที่ประชุมวิปรัฐบาล ให้เลื่อนวันประชุมกรรมาธิการของสภาฯ ไม่ให้ชนกับวันประชุมสภาผู้แทนฯ ซึ่งแท้จริงแล้ว มีคนจำนวนมากเห็นตรงกับวิธีการนี้มานานแล้ว

ปกติ สส.ทำงานประชุมสภาฯ สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพุธกับพฤหัสบดี แต่กลับมีประชุมกรรมาธิการควบคู่ไปพร้อมกัน แต่มีรายได้จากเงินเดือนและเงินเพิ่มรวมเดือนละ 1.13 แสนบาท ยังไม่นับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ที่พัก ค่าเดินทาง รักษาพยาบาล ค่าเงินเดือนผู้ช่วยและผู้ชำนาญการประจำตัวอีกรายละ 8 คน

แต่ข้อเสนอดังกล่าว ส่อจะเป็นหมันตั้งแต่ต้น เมื่อนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และเป็นรองประธานวิปรัฐบาล พูดดักทางไว้ว่า ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่างหาก

อาจลืมไปว่า การรอคอย “ความรับผิดชอบ” ที่ว่านี้เอง ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำซากและดักดาน จนถึงทุกวันนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง