โดยสาระของการประชุม มีตั้งแต่การเรียกร้องให้หยุดยิงและปล่อยตัวประกันทันทีไปจนถึงการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ
มติจากการประชุมวาระพิเศษสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในครั้งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของประชาคมโลกต่อสงครามอิสราเอล-ฮามาส หลังจาก 153 ประเทศ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิก 193 ประเทศ ลงมติรับรอง ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 ชาติอาเซียน แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
สหรัฐฯ และอิสราเอล อยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศ ลงมติคัดค้าน ขณะที่สหราชอาณาจักรและเยอรมนีอยู่ในกลุ่ม 23 ประเทศ งดออกเสียง
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของไทยในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
ไทยเป็นประเทศรักสงบ เรามุ่งส่งเสริมสันติภาพ เราไม่สนับสนุนการใช้กำลังการสู้รบ แต่เราสนับสนุนการเจรจา และการให้โอกาสการทูตได้ทำงาน นี่เป็นท่าทีของไทยมาโดยตลอด
เวลาเราพูดว่า เรารักษาความเป็นกลาง คือเรารักษาความเป็นกลางต่อคู่ขัดแย้ง เพราะเราไม่ได้จะเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เพราะเราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เราต้องมีหลักการต้องยึดถือ คือ การคุ้มครองพลเรือน และการเคารพต่อกฎหมายมนุษยธรรม
นางกาญจนาระบุว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้พี่น้องชาวไทยในอิสราเอลได้รับผลกระทบ เนื่องจากแรงงานไทยเสียชีวิต 38 คน ได้รับบาดเจ็บ 18 คน นอกจากนี้ ยังถูกจับกุมเป็นตัวประกันไปอีก 32 คน ในจำนวนนี้ 8 คน ยังไม่ได้กลับภูมิลำเนา ท่าทีของไทยในการเรียกร้องให้หยุดยิงและปล่อยตัวประกันจึงมีความสำคัญ
รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยที่ยังไม่ได้กลับบ้าน...ไทยยังคงคุยกับมิตรประเทศต่าง ๆ อาศัยท่านทูตในประเทศที่มีอิทธิพลที่จะหารือได้ ในการช่วยพี่น้องตัวประกันชาวไทยต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ
จับตา 20 ธ.ค.ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ปรับสูตรขึ้นค่าแรงใหม่
ที่พักเต็ม! จองยาวข้ามปี นักท่องเที่ยวแห่เดินทางรับลมหนาว
ลุ้นปีหน้า! ก.พลังงานมอบของขวัญปีใหม่คนไทย "ลดค่าไฟ"