วันนี้ (17 ธ.ค.2566) หลังจาก "ป๊อก" พญาแร้งตัวผู้จากสวนสัตว์โคราช และ "มิ่ง" พญาแร้งตัวเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 เป็นเวลากว่า 1 ปี
ล่าสุด โครงการ "การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย" แจ้งข่าวดี "มิ่ง" วางไข่ใบแรก
โดยระบุทั้งสองได้เริ่มมีพฤติกรรมขึ้นผสมพันธุ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 จนในที่สุดมิ่งวางไข่ใบแรกที่เกิดในป่าห้วยขาแข้งได้สำเร็จ ทั้งนี้ต้องลุ้นต่อว่า ไข่ใบนี้จะมีเชื้อหรือไม่
อ่านข่าว : “พญาแร้ง" ฮันนีมูนกลางป่าห้วยขาแข้ง รอลุ้นลูกตัวแรก
สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ชื่อ "ป๊อก" และ "มิ่ง" หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเป็นความร่วมมือ กันระหว่าง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
พญาแร้งคู่แรก ป๊อก-มิ่ง ที่ถูกนำไปปล่อยกลางป่าซับฟ้าผ่า ห้วยขาแข้ง เมื่อ 14 ก.พ.65
โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2568 ได้เคลื่อนย้ายพญาแร้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ผ่านมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน พญาแร้งทั้งคู่ สามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมในห้วยขาแข้ง ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ มีแนวโน้มที่จะทำรังวางไข่ โดยทั้ง 2 ตัวเริ่มมีพฤติกรรมอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพญาแร้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์
ขณะที่น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนหนึ่งระบุว่า เมื่อวานนั่งดูกล้องบ่อยมาก มากจนเอามาฝัน
ภาพจากเฟซบุ๊ก : Ornyupa Sangkamarn
ทำไมช่วงนี้ถึงกลับมาดูกล้องบ่อยนั้นเพราะว่าจากข้อมูลพญาแร้งที่สวนสัตว์โคราช หลังจากที่มีการขึ้นผสมพันธุ์ครั้งแรก พญาแร้งจะวางไข่หลังจากนั้น 12 - 15 วัน นี่คือสาเหตุที่ช่วงนี้ดูกล้องบ่อยขึ้น เพื่อรอวันที่จะเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง
เช้านี้ 17 ธ.ค. 2566 มีโทรศัพท์เสียงปลายสายดีใจสุดฤทธิ์จนจับอารมณ์ได้ บอกให้เรารีบเข้าไปดูกล้อง อีกสายโทรมาให้เตรียมรองเท้าเดินแก้บนที่พวกเราทีมงานสัญญากันไว้เอง
17 วัน หลังผสมพันธุ์ครั้งแรกของคู่นี้ ฝันของทีมงานเป็นจริง ลุ้นให้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด
อ่านข่าวอื่น ๆ
ตัวแรกในไทย! "ลูกพญาแร้ง" เกิดในสวนสัตว์โคราชในรอบ 30 ปี