ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทุจริตคอร์รัปชันไทยดิ่ง ! อันดับ 101 โลก " ที่ 4 ของอาเซียน

สังคม
14 ธ.ค. 66
13:24
13,412
Logo Thai PBS
ทุจริตคอร์รัปชันไทยดิ่ง !  อันดับ 101 โลก " ที่ 4 ของอาเซียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค.เปิด 4 สาเหตุสำคัญคอร์รัปชันในไทยปี 2565 เอื้อพวกพ้อง-รู้เท่าไม่ถึงการณ์-ผู้อิทธิพล กระทบเชื่อมั่นการค้า-ลงทุนไทย ชี้จีนใช้กฎหมายเด็ดขาดปราบทุจริต แนะไทยเร่งปรับภาพลักษณ์

วันนี้ (14 ธ.ค.2566) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของประเทศชาติ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2565 จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ให้อยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน

ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งแม้ว่าคะแนนจะสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าความรุนแรงของการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สาเหตุสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเกิดจากผู้ให้ ซึ่งอาจเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชั่นโดยไม่รู้ตัว โดยมีหลายกรณีที่ผู้ให้เป็นผู้เสนอสินบนให้เจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับผลประโยชน์ การอำนวยความสะดวก การยกเว้นการลงโทษ หรือเพื่อให้สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้รับมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจในกิจกรรมหลายอย่างมากเกินไป เช่น การออกใบอนุญาต การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารเงินงบประมาณ การใช้ดุลยพินิจเพื่อตรวจสอบประเมินการดำเนินงานตามเกณฑ์ที่กำหนด

ผู้ตรวจสอบการทุจริต ยังไม่รู้เท่าทันวิธีการทุจริตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือการตรวจสอบเกิดขึ้นช้าเกินไป จนเกิดความเสียหายขึ้นมากแล้วจึงค่อยตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ความเสียหายขยายวงกว้าง มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

และผู้มีอิทธิพล มีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการเข้าตรวจสอบและดำเนินการในทางกฎหมาย กับบุคคลหรือธุรกิจที่มีผู้มีอิทธิพลให้การคุ้มครอง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีต่อการค้าและการลงทุนของไทยทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณ ที่จะสามารถนำไปใช้พัฒนางานในด้านอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทำให้ประเทศเกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ จากการไม่ได้ลงทุนโครงการที่เหมาะสมในระยะเวลาที่กำหนด และทำให้การพัฒนาของไทยช้ากว่าประเทศอื่น และยังส่งผลให้ประเทศได้สินค้าและบริการ ที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งสินค้าและบริการของไทยที่ด้อยคุณภาพจะไม่เป็นที่ยอมรับของสากล และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสินค้าส่งออกไทย

นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศขาดความน่าเชื่อถือ เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมองว่าการลงทุนในประเทศไทย มีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการคอรัปชั่นในระดับต่าง ๆ ในขณะที่บางประเทศอย่างสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างโปร่งใส

มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลของซัพพลายเชนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศอย่างเข้มงวด ด้วยเหตุดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนมองข้ามประเทศไทยเพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีความโปร่งใสในการตรวจสอบการทุจริตได้ดีกว่า

การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของจีน มีการออกแถลงการณ์ ผลการดำเนินการจับกุมและลงโทษคดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556-2565) โดยคดีทุจริตในจีนมีทั้งสิ้น 4.38 ล้านคดี ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ 4.7 ล้านคน ที่เกี่ยวข้องและถูกตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่รัฐ 74,000 คนที่เข้ามาสารภาพผิดด้วยตัวเอง

แนวทางของการจัดการกับการทุจริตของจีน มีหัวใจสำคัญที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ประกอบด้วย การสร้างลำดับขั้นตอนการลงโทษเป็นการเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อคดีทุจริต เรียงลำดับความรุนแรงของการลงโทษจากเบาไปหาหนัก คือ การเตือนสติและปรับปรุง การลงโทษทางวินัยทั่วไป

การลงโทษทางวินัยอย่างหนักและปรับหรือโยกย้ายตำแหน่ง และการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงและโยงถึงการกระทำผิดทางกฎหมายและมีการดำเนินคดี

สร้างแนวทางในการควบคุมดูแลแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นให้ความรู้และเตือนผู้ที่เข้าข่ายว่าอาจมีการกระทำผิดล่วงหน้า จัดให้มีการประชุมเพื่อวิจารณ์กันเองบ่อยๆ ในหน่วยงานด้วยกันเพื่อเตือนสติตนเองและผู้อื่น และกำจัดผู้มีอิทธิพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้การปกป้องคุ้มกัน

โดยในปี 2565 การจับกุมและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้การคุ้มครองผู้มีอิทธิพลมีมากถึง 1 แสนกรณี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 92,000 คน โดยจีนกวาดล้างและตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าเข้าไปพัวพันกับผู้มีอิทธิพล และจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยกำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติหลายครั้ง แต่ยังขาดการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างจริงจัง

สนค.เห็นควรดำเนินการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต และอาจขยายผลไปสู่บทลงโทษที่รุนแรงขึ้น สำหรับประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตทั้งในฝั่งผู้ให้

และผู้รับนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ทั้งในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการตรวจสอบมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสในทุกกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการตัดสินใจ ลดความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้ารัฐกับผลประโยชน์ลง

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า การออกแบบระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่สามารถรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะ เพื่อป้องกันในกรณีที่เกิดความเสียหายไม่ให้ขยายวงกว้าง และสร้างระบบการรายงานพฤติกรรมการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับประชาชน ที่ใช้งานได้สะดวกและมีต้นทุนต่ำ

พร้อมระบบการให้รางวัล เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมตรวจสอบการทุจริต รวมทั้งการหารือแนวทางการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานเป็นระยะ ปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจหรือการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ

การสร้างความน่าเชื่อถือเรื่องการปราบทุจริตในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ และจะช่วยให้ไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการปรับปรุงภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยในอนาคต

 

อ่านข่าวอื่นๆ

"ประยุทธ" แจงผลสอบ "อัยการ บ." คดี "แป้ง นาโหนด"

เปิดที่มา 10 วลีเด็ดโซเชียล ปี 2566

จับ 2 สามีภรรยากัมพูชา พาลูก-หลานนั่งขอทานตลาดย่านมีนบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง