ศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน จ.ขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 สำนักงาน ป.ป.ช.ขอนแก่น และ เทศบาลนครขอนแก่น จัดโครงการอบรมเสริมความรู้และทักษะ สำหรับเด็กและเยาวชนและครอบครัว ที่ศูนย์เยาวชนและครอบครัวเทศบาลนครขอนแก่น ในช่วงเดือน ธ.ค.2566-มี.ค.2567
โดยปีนี้จัดโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 มีนักเรียนระดับ ม.ปลายเข้าร่วมกว่า 480 คน และมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ความรู้กับเยาวชน และแนะแนวทางการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มโอกาสเด็กยากจน เข้าถึงหลักสูตรระยะสั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หลังสำรวจพบว่า เด็กที่จะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ต้องทำแฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio เพื่อเสนอรับการพิจารณาจากคณะหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งหากไปเรียนหลักสูตรของสถาบันกวดวิชา ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักสูตรละ 3,000-10,000 บาท
ทำให้เยาวชนที่มีความสามารถ มีจิตอาสาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน แต่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงการอบรมในสถาบันกวดวิชา เพื่อนำความรู้และใบประกาศนียบัตร หรือเกียรติบัตร ไปประกอบการทำแฟ้มสะสมผลงาน เพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อได้ จึงมีการจัดทำโครงการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนสมัครเข้ามาอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 7 หลักสูตร เช่น ความรู้เรื่องยาเสพติด เยาวชนกับการสร้างธุรกิจ Startup และหลักสูตร เยาวชนไทยกับการต้านทุจริตคอรัปชั่น โดย ป.ป.ช.จังหวัดขอนแก่น
นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น ระบุว่าการอบรมหลักสูตร "เยาวชนไทย กับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน" ให้กับนักเรียน ม.ปลาย นอกจากเป็นการปลูกฝังบทบาทเยาวชนกับการป้องกันการทุจริตแล้ว หลักสูตรนี้ยังสามารถเปิดให้เยาวชนที่ ไม่ว่าจะเลือกศึกษาต่อในคณะใดก็ตาม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
หลังการอบรมครั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น ยังได้หารือร่วมกับ เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน จ.ขอนแก่น เพื่อจะต่อยอดจัดอบรมในหลักสูตรออนไลน์ เปิดโอกาสให้นักเรียนในระดับ ม.ปลายอีกหลายพื้นที่ที่สนใจ สามารถเข้าอบรม
และนำความรู้ประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสามารถนำเกียรติบัตร ไปใช้ทำแฟ้มสะสมผลงานสมัครศึกษาต่อ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส
นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเตรียมสร้าง STRONG เยาวชน เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริต และ มีค่านิยมไม่ทนต่อการทุจริต ร่วมจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) หรือแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม เพื่อสร้างความยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศทั้งระบบ