คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ค่าแรงที่ปรับขึ้นนั้น ซื้อซื้อไข่ไก่ไม่ได้สักฟอง ในบางพื้นที่เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ขึ้นต่ำสุดแค่ 2 บาท ทำให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ตีกลับให้กระทรวงแรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้องนำกลับไปพิจารณาตัวเลขมาใหม่เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในปี 2567
สสรท.ชี้ แรงงานอยู่ได้ต้อง 712 บาท
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันทร์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน จากที่เคยเสนอตัวเลขไปเมื่อปี 2560 อยู่ที่ 712 บาท แต่ก็ไม่เคยได้ตัวเลขนี้ ดังนั้นตัวเลขที่จะทำให้แรงงานดำรงชีพได้ คือ 492 บาท แต่ถ้าปรับขึ้นค่าแรงล่าสุดของคณะกรรมไตรภาคี เสนอมา 2-16 บาท ปรับขึ้นมาเฉลี่ย 10 บาท ถือว่าน้อยมาก เพราะราคาอาหารมื้อหนึ่ง 60-70 บาท
ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีตีกลับการปรับค่าแรงโดยให้กระทรวงแรงงานไปทบทวนใหม่ เห็นด้วยเพราะเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป เนื่องจากสูตรที่ใช้คำนวนค่าแรงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่เงินเฟ้อพุ่งสูง ค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่าอาหารต่างปรับตัวสูงกว่าค่าแรงไปล่วงหน้าแล้ว คนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนร้อยละ 90 ขอจีดีพี คนไม่มีรายได้ กำลังซื้อถดถอย จะหวังการลงทุนจากต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวอย่างเดียวคงไม่ได้
การทำให้คนไทยมีรายได้ที่แน่นอน น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงให้คนไทยกลับมาทำงานมากขึ้น ช่วยให้คนมีกำลังซื้อดีกว่าเอาเงินไปแจกอย่างเดียว
อ่านข่าว:
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ "ภูเก็ต" สูงสุดวันละ 370 ต่ำสุด 3 จว.ใต้ 330 บาท
นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า หากค่าแรงไม่ได้ที่ 492 บาทต่อวัน หรือได้ 400 บาท แรงงานส่วนใหญ่รับได้ แต่ค่าแรงวันละ 370 บาท ใน บางพื้นที่อย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ปรับขึ้น 2 บาท คงไม่มีแรงงานคนไหนอยากไปทำงาน คนไทยก็ออกไปทำงานที่มาเลเซียที่ได้ค่าแรงสูงๆไม่ดีกว่าหรือ
ค่าแรง370 บาท แรงงานรับได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า รับไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ปรับ แต่การที่ค่าแรงปรับมาเพียง 370 บาท ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สสรท. เคยเสนอรัฐบาลให้กำหนดตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับแรงงานที่เข้ามาทำงาน หลังจากนั้นแต่ละบริษัทให้มีโครงสร้างการปรับขึ้นค่าแรง เช่น ร้อยละ 7 หรือร้อยละ 5 ตามทักษะฝีมือแรงงาน แบบนี้จะช่วยดึงแรงงานไทยให้กลับมาทำงานมากขึ้น ลดการนำเข้าแรงงานต่างชาติ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีบริษัทไหนหรือรัฐบาลไหนทำตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นมาตรฐานสุดท้ายก็ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง
แรงงานไทยภาคเกษตร
นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบหรือแรงงานที่ไม่มีหลักประกัน ประมาณ 20-25 ล้านคนซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับค่าแรงที่ปรับขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่มีนายจ้าง ส่วนแรงงานในระบบ เช่น ลูกจ้างรัฐ พนักงานสัญญาจ้าง มีประมาณ 15 ล้านคน คนกลุ่มนี้จะเงินเดือนหรือค่าจ้างรายวันที่ต่ำมาก เงินเดือนเฉลี่ย 6,000-7,000 บาท และอีกกลุ่มคือกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 12 ล้านคน
องค์กรนายจ้างชี้ผู้มีอำนาจแทรกแซงปรับค่าแรง
ด้านนาย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ตีกลับการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี เป็นปรากฏการณ์ในรอบ 40 ปีจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล ถือว่าเป็นการแทรกแซงการปรับขึ้นขึ้นค่าแรงที่มีการพิจารณา ซึ่งจะต้องมีวิธีที่รอมชอมกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดบรรทัดฐานแบบนี้อีก การนำนโยบายค่าแรงมาหาเสียง หากในอนาคต พรรคการเมืองเสนอ ค่าแรงขั้นต่ำ 800 บาท 1,500 บาท 2,000 บาท จะเกิดอะไรขึ้น
ค่าแรงขึ้นเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับว่าคุณทำลายมาตรฐาน สร้างมาตรฐานใหม่ ต่อไปนี้ถ้าคุณไม่พอใจก็ตีกลับ สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูก ที่เราห่วง คือ การเมืองจะเข้ามาแทรกแซง อย่างต่อเนื่อง และคนที่จ่ายค่าแรงไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นเอกชน และคนที่ได้ประโยชน์ คือ แรงงานข้ามชาติไม่ใช่แรงงานไทย
อ่านข่าว:
"ข้าวไทย" น่าห่วง "หยุดพัฒนา" ชาวนาใช้พันธุ์เพื่อนบ้านปลูกแทน
แรงงานรับค่าใช้จ่ายสูงนำค่าแรง
นางสาว ภัทรวรรณ สืบเสรี แม่บ้าน บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่า เป็นพนักงานสัญญาจ้างรายวัน ทำงานเป็นแม่บ้านได้ค่าจ้างรายวันขั้นต่ำวันละ 353 บาท แต่ถ้าร่วมกับ ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยขยัน ค่าเดินทาง จะได้รับค่าจ้างวันละ 482 บาท และมีค่าโอทีชั่วโมงละ 61-62 บาท เฉลี่ยต่อเดือนมีรายได้ 12,714 บาท (ยังไม่หักประกันสังคม5%) หากไม่มีภาระค่าใช้จ่ายก็สามารถใช้จ่ายได้ระหว่างเดือนละมีเงินเก็บบ้าง แต่ถ้ามีภาระก็อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน
ค่าแรงที่ปรับขึ้น 2-16 บาท ช่วยได้เล็กน้อยแต่ค่าใช้จ่ายทั้งค่าข้าว ค่าเดินทาง ค่าไฟ ก็มีราคาที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก็ยังคงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด โชคดีที่แฟนมีรายได้ ก็ช่วยให้การใช้จ่ายคล่องตัวพอสมควร
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
สนค.ชี้ค่าแรงขั้นต่ำกระทบเงินเฟ้อ ร้อยละ2.37
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.37 ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไม่มากนักเพียงร้อยละ 0.13-0.25
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบ 2 เดือนต่อเนื่องยังไม่น่ากังวล และไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจถดถอย เป็นเพียงสัญญาณที่สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังปรับเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเหมาะสมในระยะต่อไป
ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาคี (หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง) ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมจะทำให้แรงงานสามารถครองชีพตามอัตภาพได้ และย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะเดียวกันแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญปัจจัยหนึ่ง ต้นทุนของแรงงานที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ภาครัฐมีนโยบายสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของผู้ประกอบการในทุกมติ
ดังนั้น การเพิ่ม ค่าจ้างอย่างเหมาะสมและคุ้มค่ากับผลิตภาพแรงงานย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก สำหรับในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพย่อมช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และจะมีผลสะท้อนด้านบวกกลับมายังการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศในที่สุด
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อ พบว่า กรณีหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 345 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.13 – 0.25 ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรม สินค้าที่มีต้นทุนด้านแรงงานสูงมีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่มีการแข่งขันสูงการปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีน้อย โดยผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนด้านอื่น ๆ แทน ดังนั้น การส่งผ่านไปยังเงินเฟ้ออาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์
สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อและเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น โดยในปี 2567
เศรษฐกิจชะลอตัวทำหนี้ครัวเรือนพุ่ง
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า สนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 0.7) โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง เช่น มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอาจ
เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ราคาเนื้อสุกรที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ข้อเท็จจริงในขณะนี้ พบว่าแม้เงินเฟ้อติดลบ 2 เดือนต่อเนื่องในเดือน ต.ค. และ พ.ย. และมีแนวโน้มติดลบในเดือน ธ.ค. 2566 แต่ไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากังวล และไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการลดลงของเงินเฟ้อเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ทำให้สินค้าสำคัญในกลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า) ปรับตัวลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าเข้าสู่ระดับปกติ
เปิด3 เงื่อนไขทำวิกฤตเงินฝืด
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับ 3 เงื่อนไขของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พบว่า เงินเฟ้อไทยยังไม่ตรงทั้ง 3 เงื่อนไข ประกอบด้วย 1.เงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานหรือประมาณ 1 ไตรมาส 2.เงินเฟ้อติดลบกระจายในหลาย ๆ หมวดสินค้าและบริการ และ 3. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น เงื่อนไขข้อนี้ไม่สอดคล้องเช่นกัน
เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5 และในปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.7 -3.7
ขณะที่ด้านตลาดแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องของไทยจะไม่น่ากังวล
สัญญาณบ่งชี้ว่าไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำ จากปี 2565 อยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 6.08 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสมกับแนวโน้มเงินเฟ้อระดับต่ำต่อไป
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานขั้นต่ำดีขึ้น และมีผลทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถือว่าเป็นการปรับให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลในเรื่องการปรับค่าจ้างจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นนั้น จากข้อเท็จจริงพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ได้ติดตามราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
อ่านข่าว:
เสียงชาวนา ไทยเสียแชมป์ข้าวจากนโยบายรัฐ ไม่ใช่ปริมาณ-คุณภาพข้าว