วันนี้ (12 ธ.ค.2566) นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในรูปคณะกรรมการไตรภาคี ประชุมร่วมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีในช่วง 2-16 บาท หรือเฉลี่ยที่ 3.2 % ทั่วประเทศนั้น ต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี และนายกรัฐมนตรีที่ถือว่าเป็นซีอีโอของประเทศที่จัดพิจารณาเรื่องนี้
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ ยังบอกไม่ได้ว่ากระทบกับต้นทุนผู้ประกอบการเท่าไหร่เพราะเป็นการปรับขึ้นที่น้อยและไม่ได้กระทบทั้งอุตสาหกรรม และในอนาคตต้นทุนของแรงงานจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวคือ การนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้มากขึ้น
อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าแรง คือ สิ่งทอ อาหาร เกษตร จะกระทบเป็นอันดับแรก เพราะใช้แรงงานคนจำนวนมาก
อ่านข่าว:
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ "ภูเก็ต" สูงสุดวันละ 370 ต่ำสุด 3 จว.ใต้ 330 บาท
ประธานสรท.กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการจะต้องเน้นไปเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะไทยต้องแข่งขันกับโลก และรัฐบาลเองก็ลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย การสร้างทักษะแรงงานฝีมือ ผู้ประกอบการต้องลดการพึ่งพาแรงงานและหันมาให้เทคโนโลยีให้มากขึ้น
แรงงานไทยภาคเกษตร
ภาครัฐเองลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมค่อนข้างน้อย ทำให้ต้นทุนการใช้แรงงานเข้มข้นจึงยังสูง สิ่งที่ทำได้ คือการปรับตัวเพื่อให้ทันกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีครั้งนี้ ภายใต้คณะกรรการไตรภาคี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ
ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการพิจารณา และเห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการไตรภาคีมีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อัตราวันละ 2-16 บาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้เสนอให้ที่ประชุมครม.รับทราบ และให้สิทธิ รมว.แรงงานเสนอครม.ให้ถอนไปก่อน เนื่องจาก ครม.ไม่มีอำนาจในการสั่งทบทวนใด ๆ
อ่านข่าว:
"ข้าวไทย" น่าห่วง "หยุดพัฒนา" ชาวนาใช้พันธุ์เพื่อนบ้านปลูกแทน